บทความที่ได้รับความนิยม

วันเสาร์ที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2556

กลิ่นปากเเรงเกิดจากอะไร

กลิ่นปากเเรงเกิดจากอะไร


มีกลิ่นปากแรงมาก แม้ว่าจะแปรงฟันหลังอาหารแล้ว ควรทำยังไงดีคะ (Lisa)
โดย ทันตแพทย์รัชภูมิ เผ่าเสถียรพันธ์



          กลิ่นปากเป็นปัญหาหนึ่งที่สร้างความกังวลใจ และความรู้สึกไม่มั่นใจ สำหรับหลาย ๆ คน แม้ว่าจะพยายามใช้น้ำยาบ้วนปาก ยาอม หรือสเปรย์ดับกลิ่นปาก ก็ให้ผลแค่ชั่วครั้งชั่วคราว ถ้ายังไม่ได้รับการแก้ไขที่สาเหตุที่ถูกต้อง กลิ่นปากก็ยังคงอยู่ ซึ่งกลิ่นเหม็นนี้เกิดขึ้นได้คล้าย ๆ กับกลิ่นเหม็นที่เกิดจากส่วนอื่น ๆ ของร่างกาย ซึ่งเป็นผลมาจากแบคทีเรียกลุ่มที่ทำให้เกิดการย่อยสลายโดยไม่ต้องการอากาศ



          ดังนั้น บริเวณใดที่มีเศษอาหารตกค้าง แบคทีเรียก็ทำให้เกิดการบูดเน่าและมีกลิ่นเหม็นขึ้นได้ อะไรก็ตามที่มีผลให้มีเศษอาหารตกค้างหมักหมมก็จะทำให้เกิดกลิ่นปากได้ บริเวณที่จะพบบ่อย ๆ คือที่ลิ้น ร่องเหงือก ใต้ขอบเหงือก ส่วนอื่นที่สามารถพบได้อีกคือ บริเวณที่อุดฟัน ครอบฟันไม่พอดี การเป็นโรคปริทันต์ เหงือกอักเสบ มีฟันผุรูกว้าง ฟันปลอมชนิดถอดได้ ทำให้มีเศษอาหารตกค้างในบริเวณดังกล่าว จึงเป็นต้นเหตุที่สำคัญที่ทำให้เกิดกลิ่นปาก ดังนั้น จึงควรแปรงลิ้นหลังการแปรงฟันทุกครั้ง และแปรงให้ลึกถึงโคนลิ้น จะช่วยทำความสะอาดน้ำเมือกตกค้าง ที่ทำให้เกิดกลิ่นปากได้



          การแก้ปัญหามีกลิ่นปาก ด้วยการใช้น้ำยาบ้วนปาก สเปรย์ หรือลูกอมรสมินต์ เป็นการแก้ไขที่ไม่ถูกต้อง และเป็นการสิ้นเปลืองอย่างมากด้วย การใช้น้ำยาบ้วนปากที่มีส่วนผสมคลอเฮ็กซิดีนในระยะยาวจะมีผลเสีย ทำให้เกิดคราบสีที่ฟัน ซึ่งน้ำยาบ้วนปากจะช่วยลดกลิ่นปากได้ชั่วคราวเท่านั้น ไม่ได้กำจัดสาเหตุที่แท้จริงออกไป ทำให้อาการของโรคถูกปิดบังจนเกิดอาการรุนแรงได้โดยไม่รู้ตัว และในบางครั้งกลิ่นของน้ำยาบ้วนปากก็อาจผสมกับกลิ่นปากจนทำให้เกิดกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์ได้อีกด้วย เพราะฉะนั้น วิธีที่ดีที่สุดของการรักษากลิ่นปากก็คือ การค้นหาและกำจัดโรคที่เกิดขึ้น และการแปรงฟันที่สะอาดอย่างสม่ำเสมอนั่นเอง

วันอังคารที่ 22 มกราคม พ.ศ. 2556

อาการผู้ป่วยโรคตับแข็ง

อาการผู้ป่วยโรคตับแข็ง


เพราะ "ตับ" คืออวัยวะที่ช่วยทำลายสารพิษต่าง ๆ ในร่างกาย หาก "ตับ" เสียหรือผิดปกติ นั่นย่อมหมายถึงสภาพร่างกายที่จะเสื่อมถอยลงไปด้วย และวันนี้เราจะพามารู้จัก โรคตับแข็ง หนึ่งในโรคตับที่พบได้บ่อยที่สุดกันค่ะ

          โรคตับแข็ง หรือ Liver cirrhosis เป็นโรคเรื้อรังที่ทำให้เกิดการสูญเสียโครงสร้างของตับ โดยเนื้อตับจะถูกทำลาย เพราะมีเนื้อเยื่อพังผืดเกิดขึ้นในเนื้อตับ และไปดึงรั้งเนื้อตับดีจนเป็นผิวตะปุ่มตะป่ำเรียกว่า regenerative nodule ทำให้ตับสูญเสียการทำงานลงไป เพราะเลือดจะมีเลี้ยงเนื้อตับน้อยลง หากปล่อยไว้นานก็จะกลายเป็น ตับแข็งระยะสุดท้าย และพัฒนากลายเป็นมะเร็งตับได้เช่นกัน



สาเหตุของ โรคตับแข็ง

สาเหตุของการเกิด ตับแข็ง มีหลายประการ แต่ที่พบบ่อย คือ

           การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่มากเกินไป และติดต่อกันเป็นเวลานาน เพราะการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาก ๆ จะทำให้เกิดความผิดปกติของการใช้โปรตีน ไขมัน และคาร์โบไฮเดรตในตับ จึงเกิดภาวะตับอักเสบและเรื้อรังจนกลายเป็น โรคตับแข็ง โดยผู้หญิงจะเป็น โรคตับแข็ง ได้มากกว่าผู้ชาย

           การเป็นโรคตับอักเสบเรื้อรัง จากการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี หรือไวรัสตับอักเสบซี จนทำให้ตับอักเสบเป็นเวลาหลายปี ก่อนจะกลายเป็น โรคตับแข็ง ในที่สุด โดยไวรัสตับอักเสบบีและซีนั้น เป็นเชื้อไวรัสที่ติดต่อกันทางเลือดและเพศสัมพันธ์ การติดเชื้อเป็นพาหะนั้นมักจะเกิดโดยไม่รู้ตัว



           เกิดจากโรคที่ภูมิคุ้มกันมีการทำลายเนื้อตับ

           เกิดภาวะไขมันสะสมในตับ ซึ่งพบได้ในผู้ป่วยโรคเบาหวาน, โรคอ้วน, ไขมันในเลือดสูง

           การรับประทานยาบางชนิดที่ทำให้เกิดภาวะตับอักเสบเป็นระยะเวลานาน ๆ เช่น ยาแก้ปวดลดไข้พาราเซตามอล ยาปฏิชีวนะเตตราไซคลีน ยารักษาวัณโรคบางชนิด

           โรคทางพันธุกรรมบางโรคทำให้เกิด ตับแข็ง เช่น ทาลัสซีเมีย,hemochromatosis, Wilson's disease, galactosemia

           ภาวะหัวใจวายเรื้อรัง ทำให้เส้นเลือดคั่งที่ตับ เลือดไหลเวียนในตับน้อยลง เนื้อตับขาดภาวะออกซิเจนจนตายลง

           พยาธิบางชนิด เช่น พยาธิใบไม้ในเลือดอาจทำให้เกิดตับแข็ง

          ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคตับแข็งมักจะปรากฏอาการเริ่มแรกในช่วงอายุระหว่าง 40 - 60 ปี แต่ถ้าพบในคนอายุน้อย มักมีสาเหตุจากตับอักเสบจากเชื้อไวรัส ซึ่งมีอาการค่อนข้างรุนแรง

อาการผู้ป่วย โรคตับแข็ง

          ผู้ป่วย โรคตับแข็ง ในระยะแรก มักจะไม่มีอาการชัดเจน อาจมีเพียงอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ คล้ายอาหารไม่ย่อย จึงไม่ค่อยรู้สึกตัวว่ามีความผิดปกติที่ตับ แต่เมื่อเป็นมากขึ้นเรื่อย ๆ จะเกิดอาการของตับแข็ง คือ ผู้ป่วยจะมีอาการอ่อนเพลีย ตาเหลือง ปัสสาวะเหลือง ท้องโตขึ้น ขาบวม เบื่ออาหาร คลื่นไส้ น้ำหนักลด อาจรู้สึกเจ็บบริเวณชายโครงขวาเล็กน้อย มีอาการคันตามตัว

          ในผู้หญิงที่เป็น โรคตับแข็ง อาจมีอาการประจำเดือนขาดหรือมาไม่สม่ำเสมอ มีหนวดขึ้น หรือมีเสียงแหบแห้งคล้ายผู้ชาย ในผู้ชายอาจรู้สึกนมโตและเจ็บ อัณฑะฝ่อตัว บางคนอาจสังเกตเห็นฝ่ามือแดงผิดปกติ หรือมีจุดแดงที่หน้าอก  หน้าท้อง เป็นต้น



โรคแทรกซ้อนของผู้ป่วย โรคตับแข็ง

หากผู้ป่วยเป็น โรคตับแข็ง มากขึ้น อาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้ โดยมีอาการคือ

           ตัวเหลือง ตาเหลือง เพราะตับไม่สามารถขับน้ำดีออกมาได้

           คันตามร่างกาย เพราะมีน้ำดีสะสมอยู่ตามผิวหนัง

           เกิดนิ่วในถุงน้ำดี

           มีอาการบวมหลังเท้า แขนขา และท้อง เพราะตับไม่สามารถสร้างไข่ขาว (โปรตีนในเลือด) ได้

           เลือดออกได้ง่าย เพราะตับไม่สามารถสร้างสารที่ทำให้เลือดแข็งตัวได้

           สูญเสียความสามารถเกี่ยวกับความจำ สติ เพราะเกิดการคั่งของของเสีย

           ไวต่อยามากขึ้น ดังนั้นการให้ยากับผู้ป่วย โรคตับแข็ง ต้องระวังการเกิดยาเกินขนาด เพราะตับจะไม่สามารถทำลายยาได้ แม้แต่การให้ยาให้ขนาดปกติ ก็ต้องระวัง

           อาเจียนเป็นเลือด เพราะตับแข็ง จะทำให้ความดันในตับสูง จนทำให้หลอดเลือดดำในหลอดอาหารมีความดันสูง และหากมีความดันสูงมาก อาจทำให้หลอดเลือดดำแตกได้

           ติดเชื้อได้ง่าย เพราะภูมิคุ้มกันลดลง อาจเป็น ท้องมาน ไตวาย

          และในระยะสุดท้าย เมื่อตับทำงานไม่ได้เลยก็จะเกิดอาการหมดสติเรียกว่า ภาวะหมดสติจากตับเสีย นอกจากนี้ผู้ป่วย โรคตับแข็ง มีโอกาสเป็นมะเร็งในตับสูงกว่าคนปกติอีกด้วย

การตรวจวินิจฉัย โรคตับแข็ง

          แพทย์จะซักประวัติเพื่อหาปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิด โรคตับแข็ง จากนั้นจะตรวจร่างกาย เพื่อหาสิ่งที่บ่งชี้ว่าเป็นตับแข็งหรือไม่ เช่น มีอาการตัวเหลืองตาเหลือง ท้อง และเท้าบวม ฝ่ามือแดง มีจุดแดงตามตัวหรือไม่ หรือคลำตับพบว่า มีผิวแข็งขรุขระ ขอบไม่เรียบ ก่อนที่จะตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยแพทย์จะเจาะเลือด เพื่อตรวจการทำงานของตับ ซึ่งหากเป็น โรคตับแข็ง จะพบปริมาณไข่ขาวต่ำ มีการคั่งของน้ำดี โดยบางรายอาจต้องตรวจอัลตราซาวนด์ดู หรือเจาะเนื้อตับ

 ผการรักษา โรคตับแข็ง

          โรคตับแข็ง ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ เพราะเซลล์ตับถูกทำลายไปแล้ว จึงไม่สามารถฟื้นกลับมาเป็นปกติ ซึ่งการรักษาจะทำได้โดยชะลอโรคเท่านั้น

          ทั้งนี้ ถ้าหากผู้ป่วยเป็น โรคตับแข็ง ระยะแรก และปฏิบัติตัวได้เหมาะสม ก็จะมีชีวิตอยู่ได้นานเกิน 5-10 ปี แต่หากมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้น ก็อาจอยู่ได้ 2-4 ปี โดยการรักษา โรคตับแข็ง สามารถให้ตั้งแต่ยากิน ยาฉีด ผ่าตัดเปลี่ยนตับ และมีแนวทางการรักษาอยู่ 2 วิธีการคือ

1. การรักษาที่สาเหตุ

          นั่นคือ ต้องรู้ว่าต้นเหตุของ โรคตับแข็ง เกิดจากอะไร และรักษาไปตามสาเหตุนั้น เช่น มีสาเหตุจากการดื่มสุรา ก็ให้งดสุรา ถ้าเกิดจากไวรัสตับอักเสบก็ให้ยารักษาที่ชื่อว่า อินเตอเฟอรอน  ในกรณีที่เป็นโรคตับแข็งจากการอักเสบของตับชนิดออโตอิมมูน ให้ใช้ยาสเตียรอยด์รักษา แต่หากเป็นโรคตับแข็งจากการสะสมของสารทองแดงในตับ จะใช้ยาเฉพาะเพื่อขับสารทองแดงออกจากร่างกาย

2.การรักษาโรคแทรกซ้อนของ โรคตับแข็ง คือ

           หากมีอาการคันตามผิวหนัง ให้ทานยาแก้แพ้ และลดอาหารจำพวกโปรตีนลง

           หากเป็นท้องมานหรือบวมที่หลังเท้า ให้ลดอาหารเค็ม และให้ยาขับปัสสาวะเพื่อลดอาการบวม

           หากผู้ป่วยมีความดันในตับสูง แพทย์จะให้ยาลดความดัน

           หากอาเจียนเป็นเลือดหรือหมดสติ ให้รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาล

 การผ่าตัดเปลี่ยนตับ

          หากผู้ป่วยเป็นมากคือเป็น โรคตับแข็ง ระยะสุดท้าย ไม่สามารถควบคุมโรคแทรกซ้อนได้ หรือพบว่าการทำงานของตับลดน้อยลงมากจนไม่เพียงพอ ก็จำเป็นต้องผ่าตัดเปลี่ยนตับ ซึ่งการรักษาด้วยการเปลี่ยนตับ ร่วมกับการใช้ยารักษา ได้ผลดีถึงร้อยละ 80-90 โดยเฉลี่ยผู้ป่วยโรคตับแข็งที่ได้รับการผ่าตัดเปลี่ยนตับร้อยละ 80 จะมีชีวิตยาวนานถึง 5 ปี

 การดูแลผู้ป่วย โรคตับแข็ง

           รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ เพื่อให้มีสารอาหารเพียงพอต่อร่างกาย

           ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง เพราะตับจะย่อยไขมันได้น้อยลง และควรหลีกเลี่ยงไขมันจากสัตว์ ให้ใช้ไขมันพืชแทน เช่น น้ำมันรำข้าว น้ำมันถั่วเหลือง ที่มีกรดไขมันจำเป็นไลโนเลอิก

           ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มจัด อาหารที่ผ่านการแปรรูป เช่น ไส้กรอก หมูยอ เพราะมีโซเดียมเป็นส่วนประกอบ ซึ่งอาหารเหล่านี้ จะทำให้อาการบวม อาการท้องมานเลวลงได้ โดยทั่วไปแพทย์จะแนะนำให้รับประทานเกลือได้ไม่เกินวันละ 2 กรัม หรือเทียบเท่ากับเกลือป่นประมาณ เศษหนึ่งส่วนสามช้อนชาต่อวันเท่านั้น

           ควรหลีกเลี้ยงอาหารที่ชื้น เช่น ถั่วป่น พริกป่น ที่เป็นแหล่งของสารอะฟลาท็อกซิน ทำให้ตับต้องทำงานมากขึ้น และยังทำให้เสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งตับมากขึ้น

           ควรทานอาหารที่สะอาด ปรุงใหม่ ไม่ทานอาหารที่เก็บค้างคืน อาหารสุก ๆ ดิบ ๆ ลวก ย่าง

           ควรรับประทานอาหารที่เป็นผัก ผลไม้ให้เพียงพอ เพื่อป้องกันมิให้เกิดภาวะท้องผูก

           ต้องไม่ดื่มน้ำมากเกินไป คือไม่เกิน 6 แก้วต่อวัน หรือหากมีอาการบวมมาก ควรลดปริมาณน้ำลงอีก และอาจต้องกินยาขับปัสสาวะตามที่แพทย์สั่งด้วย

           ต้องงดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยเด็ดขาด เพื่อป้องกันไม่ให้เซลล์ตับส่วนที่ยังดีอยู่ ถูกทำลายมากขึ้น

           ไม่ควรซื้อยามาทานเอง หรือกินยาเกินขนาด เพราะยาส่วนมากจะถูกทำลายที่ตับ จึงอาจทำให้ภาวะตับแย่ลงกว่าเดิม

           แพทย์อาจสั่งวิตามิน หรือเกลือแร่เสริมให้ เพราะเมื่อตับถูกทำลายอาจทำให้ร่างกายขาดสารอาหารที่จำเป็น

           หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนัก ๆ เช่น วิ่งมาราธอน กีฬาที่ต้องหักโหม ให้เดินวิ่งเบา ๆ แทน และพยายามทำจิตใจให้เบิกบาน

 การป้องกัน โรคตับแข็ง

           1. หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก และถ้าตรวจพบว่าเป็นพาหะของเชื้อไวรัสตับอักเสบบีหรือซี ควรงดดื่มโดยเด็ดขาด

           2. ฉีดวัคซีนป้องกันตับอักเสบจากไวรัสบี ซึ่งนิยมฉีดตั้งแต่แรกเกิด

           3. ระมัดระวังการใช้ยาที่อาจมีพิษต่อตับ

วันศุกร์ที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2556

ฉี่ไม่ออกเกิดจากอะไรกันเเน่

ฉี่ไม่ออกเกิดจากอะไรกันเเน่

ผมก็เคยเป็นนะครับ ฉี่ไม่ออกในกรณีผมนี่คืออักเสบครับคือกลั้นบ่อยครับ ทางออกเลยนะครับ ถ้าใครกลั้นบ่อยปวดมากเเละไม่ออกเนี่ยเอาฝักบัวฉีดปลายครับ เเล้วเดี๋ยวมันจะออกเองครับ ลองมาเเล้วครับ ต้องมีนำล่อง เเต่ของผู้หญิงไม่รู้ครับ

บทความน่าสน


คุณที่เคยปัสสาวะไม่ออกบ้างไหม? หากเคยละก็ คุณย่อมจะรู้ดีว่า มันทรมานมากเพียงไร... จริงๆแล้ว...ผู้หญิงกับโรคระบบทางเดินปัสสาวะนั้น สัมพันธ์กันมาก ผู้หญิงจึงมักมีอาการอันเกี่ยวเนื่องกับภาวะปัสสาวะไม่ออกบ่อยๆ...ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อ แต่..ก็มีหลายโรค ที่ทำให้ปัสสาวะไม่ออกอย่างกระทันหันได้ อาทิ กรณีเนื้องอกมดลูก (Myoma) ขนาดราวๆผลส้ม ที่ไปอุดในอุ้งเชิงกราน เบียดส่วนคอท่อปัสสาวะ จนฉี่ไม่ออก เป็นต้น

เมื่อหลายเดือนก่อน คุณยายสุภัทรา อายุ 76 ปี มาโรงพยาบาลตำรวจ ด้วยเรื่องมีก้อนโผล่ออกมาจากช่องคลอด ร่วมกับภาวะปัสสาวะไม่ออก 2 สัปดาห์ก่อนมาโรงพยาบาล ข้าพเจ้าตรวจภายในดูแล้ว ปรากฏว่า คุณยายสุภัทราเป็นโรคกระบังลมหย่อน (Procedentia uteri) แต่..เนื่องจากคุณยาย มีโรคความดันโลหิตสูงและเบาหวาน (Hypertension & D.M.) ทำให้การผ่าตัดต้องเลื่อนออกไป จนควบคุมภาวะดังกล่าวได้ ประกอบกับ ในช่วงนั้นเป็นช่วงเกิดมหาอุทกภัยถล่มภาคกลางของประเทศไทยครั้ง

ประวัติศาสตร์ คุณยายจึงต้องทนทุกข์ทรมานกับการใส่คาสายสวนปัสสาวะ (Retained Foley’s catheter) อยู่นานถึง 4 เดือน เพื่อลดอาการคั่งของปัสสาวะ ซึ่ง..ขณะเข้ารับการผ่าตัด ข้าพเจ้ายังไม่แน่ใจเลยว่า คุณยายสุภัทราจะปัสสาวะได้สะดวกสบายเหมือนเดิม โดยไม่จำเป็นต้องใส่สายสวนปัสสาวะ

ที่ห้องผ่าตัด การผ่าตัดเป็นไปอย่างเรียบร้อย ข้าพเจ้าตัดมดลูกที่ยื่นพ้นออกมาจากช่องคลอด โดยการขวั้นรอบๆปากมดลูกก่อน จากนั้น ก็ดันแยกชั้นผิว Mucosa ของช่องคลอดให้ออกจากเนื้อเยื่อส่วนล่าง แล้วใช้เครื่องจี้ ปิดเส้นเลือดอย่างดี (EBBE seal coagulation) จี้ตัดมดลูกทีละข้างจนมดลูกหลุดออกมา จากนั้น ข้าพเจ้าก็ผ่าตัดตกแต่งภายใน (A – P repair) ให้ด้วย เพื่อให้ช่องคลอดกระชับ กระเพาะปัสสาวะจะได้ไม่ดันให้หย่อนลงมาอีก คุณยายสุภัทราใส่สายสวนปัสสาวะต่อหลังผ่าตัด 5 วัน ก็ถอดออกและปัสสาวะได้ตามปกติ ช่างเป็นเรื่องที่น่าอัศจรรย์มาก เพราะเธอฉี่ไม่ออกและคาสายสวนปัสสาวะมานานกว่า 4 เดือน แล้วจู่ๆ ก็เดินเหินได้ดี ปัสสาวะคล่องแคล่ว มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว ราวกับพลิกหน้ามือเป็นหลังมือ

2 - 3 วันก่อน คุณยายสุภัทรามาตรวจหลังผ่าตัด 6 สัปดาห์ ท่านดูสดชื่นมาก และพูดจาล้อเล่นกับข้าพเจ้าตลอดเวลา แล้วยังถามว่า ‘คุณหมอไม่ได้ผ่าตัดเองหรือ?’ ข้าพเจ้าตอบว่า ‘อ้าว! ทำไม พูดอย่างนั้นหละ’ คุณยายตอบว่า ‘ก็ได้ยินเสียงคุณหมอแป๊บเดียว ตอนแรกๆ จากนั้น ก็ไม่ได้ยินอีกเลย’ ข้าพเจ้ายืนยันกับ่านอีกครั้งว่า ‘ผ่าตัดเองทั้งหมด ทั้งยังตกแต่งภายในให้กระชับด้วย ไม่อย่างนั้น คุณยายจะไปไหนมาไหนสะดวกเช่นนี้หรือ’ ตอนนั้น ข้าพเจ้ารู้สึกดีใจมากจริงๆ ที่เห็นท่านกลับมาใช้วิถีชีวิตดังเดิมได้อีกครั้ง

นอกจากกรณีของคุณยายสุภัทราแล้ว กรณีของคุณสุพรรณี ยิ่งน่าอัศจรรย์ใหญ่ คุณสุพรรณี อายุ 48 ปี มีบุตร 3 คน บุตรคนสุดท้องอายุ 11 ขวบ เธอมาโรงพยาบาลตำรวจ ด้วยเรื่องปวดท้องน้อยอย่างรุนแรง ราวๆปลายเดือนตุลาคม 2554 ซึ่ง...เป็นช่วงที่กำลังเกิดมหาอุทกภัย น้ำไหล่บ่าทะลัก เข้าท่วมกรุงเทพมหานครชั้นนอก แบบไม่ปรานี ปราศัย


คุณสุพรรณีให้ประวัติว่า ‘ปวดท้องน้อย และฉี่ออกแบบกะปิดกะปรอยมา 4 วัน ก่อนมาโรงพยาบาล’ ก่อนหน้านั้น คุณสุพรรณีได้ไปเข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลในเครือประกันสังคม ก็ได้รับยาแก้อักเสบมารับประทาน พร้อมกับคำวินิจฉัยว่า ‘ทางเดินปัสสาวะอักเสบ’ วันที่คุณสุพรรณีมาโรงพยาบาลตำรวจ ข้าพเจ้ายังจำได้ดี ตอนแรก คุณสุพรรณีขอตรวจภายในกับคุณหมอผู้หญิง ซึ่งคุณหมอได้ขอให้คุณสุพรรณีไปตรวจปัสสาวะก่อนพบแพทย์ ต่อมา เวลาประมาณ 11 นาฬิกา สูตินรีแพทย์หญิงท่านนั้น ไปทำกิจธุระส่วนตัว ยังไม่กลับมา คุณสุพรรณีมีอาการปวดท้องน้อยจนแทบจะเป็นลม และทนไม่ไหวแล้ว เนื่องจากเธอรอมานานมาก หลังจากได้ไปเก็บปัสสาวะส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ ตอนนั้น เธออดรนทนไม่ได้ จึงบอกกับพยาบาล

ขอให้คุณหมอท่านใดช่วยตรวจภายในให้ก่อน พอข้าพเจ้าเห็นหน้าคุณสุพรรณี ข้าพเจ้าก็รีบบอกให้คุณสุพรรณีเข้ารับการตรวจภายใน.....และทันที ที่เห็นหน้าท้องของคุณสุพรรณี ข้าพเจ้าก็ต้องขอให้เธอรีบเปลี่ยนเป็นเข้ารับการตรวจอัลตราซาวนด์แทน เพราะหน้าท้องของเธอโป่งนูนสูงใหญ่ ราวกับคนท้อง 9 เดือน... พอวางหัวตรวจอัลตราซาวนด์กดลงบนหน้าท้องของคนไข้ ข้าพเจ้าก็ต้องตกใจ เพราะภายในกระเพาะปัสสาวะของเธอ เต็มไปด้วยปัสสาวะ คาดว่า มีปริมาณ ไม่น่าจะต่ำกว่า 2 ลิตร ข้าพเจ้ารีบบอกให้นักศึกษาแพทย์ฝึกหัดรีบสวนปัสสาวะทิ้งให้กับคนไข้ทันที ปรากฏว่า นักศึกษาแพทย์ฝึกหัดสวนปัสสาวะได้ถึง 2500 ซี.ซี. (มิลลิลิตร)

หลังจากนั้น ข้าพเจ้าได้สอบถามคุณสุพรรณีว่า ‘เธอทนต่อการปวดฉี่ ได้ยังไง? เพราะเมื่อฉี่เต็มกระเพาะปัสสาวะ จะเกิดภาวะหนึ่งที่เรียกว่า Vago – vagal reflex ซึ่งเป็นกลไกของระบบประสาทอัตโนมัติ ทำให้คนไข้ช็อคได้’ คุณสุพรรณีบอกว่า ‘หนูก็พยายามทน พอมาพบคุณหมอผู้หญิง คุณหมอคิดว่า หนูเป็นทางเดินปัสสาวะอักเสบเหมือนที่โรงพยาบาลประกันสังคม จึงให้ไปตรวจปัสสาวะมาก่อน แล้วค่อยมาตรวจภายในทีหลัง นี่!!! ยังโชคดีที่เจอคุณหมอเสรี จึงได้ตรวจภายในเลย หากช้ากว่านี้อีกไม่กี่นาที คิดว่า หนูคงจะเป็นลมหรือช็อคหมดสติไปแล้ว เพราะทนแทบไม่ไหวเลย’ ข้าพเจ้าขอให้คุณสุพรรณีนอนพักรักษาตัวที่หอผู้ป่วย โดยคาสายสวนปัสสาวะแบบตลอดเวลา (Continuous) โดยให้ยาฆ่าเชื้อ เพื่อลดการอักเสบในกระเพาะปัสสาวะ และยาเพิ่มการหดรัดตัวของกระเพาะปัสสาวะด้วย เป็นเวลา 5 วัน หลังจากนั้น ประมาณ 1 - 2 สัปดาห์ ค่อยนัดมาตัดเอามดลูกออก

ที่ไหนได้!!! พอออกจากโรงพยาบาลไป.. ถัดจากนั้นเพียง 4 วัน คุณสุพรรณีเกิดภาวะปัสสาวะไม่ออกอีก จึงต้องมาเข้าห้องตรวจฉุกเฉินกลางดึกของคืนวันหนึ่ง มีปัสสาวะคั่งค้าง 2000 มิลลิลิตรเหมือนเดิม และได้รับการใส่สายสวนปัสสาวะคาไว้ (Retain Foley’s catheter) วันรุ่งขึ้น ข้าพเจ้ารีบปรึกษาศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะ เพื่อหาทางแก้ไขภาวะกระเพาะปัสสาวะอักเสบก่อนผ่าตัด เมื่อกลับจากพบศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะ ก็มีคำแนะนำแนบท้ายมาว่า ‘ขอให้ตัดมดลูกเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้’ ข้าพเจ้าจึงผ่าตัดให้คุณสุพรรณีในอีก 2 วันถัดจากนั้น

ที่ห้องผ่าตัด ข้าพเจ้าได้ทำการผ่าตัดมดลูกและรังไข่ทั้งสองข้างให้กับคุณสุพรรณีผ่านทางกล้อง (Total laparoscopic hysterectomy) การผ่าตัดเป็นไปอย่างเรียบร้อย ไม่ยุ่งยากอะไร มดลูกของคนไข้มีขนาดเท่าอายุครรภ์ 10 - 12 สัปดาห์หรือเท่ากับเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 8 - 10 เซนติเมตร น้ำหนักของก้อนเนื้องอก เท่ากับ 400 กรัม เป็นเนื้องอกธรรมดา (Adenomyosis) ไม่ใช่มะเร็งของมดลูก

ข้าพเจ้าได้ให้คุณสุพรรณีคาสายสวนปัสสาวะหลังผ่าตัด 4 วัน จึงอนุญาตให้ถอดออกได้ โดยทดสอบกระเพาะปัสสาวะหลังถอดสายสวนด้วยว่า ‘ยังมีปัสสาวะเหลือค้าง หลังถ่ายสุดเท่าไหร่ (Retention of urine) หากมีปริมาณมากกว่า 150 ซี.ซี. ก็ให้ใส่สายสวนปัสสาวะต่อ’ ซึ่ง..ก็ไม่มีปัญหาอะไร คุณสุพรรณีสามารถปัสสาวะได้เอง โดยไม่มีปัสสาวะเหลือค้างเหมือนเดิม คุณสุพรรณีได้มาตรวจภายในหลังผ่าตัด 2 และ 4 สัปดาห์ ก็ไม่พบมีปัญหาอะไร คุณสุพรรณีมีความสุขมากหลังจากนั้น ปากก็พร่ำพูดถึงคุณความดีของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าเข้าใจเธอดี เพราะความเจ็บปวดจากการฉี่ไม่ออกนั้น มันมากมาย จนยากจะบรรยาย และความที่เป็นเช่นนั้นอยู่หลายวัน ทำให้เธอมีความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส

ผู้หญิงกับปัญหาฉี่ไม่ออกนั้น มีมากมายหลายสาเหตุ หากคุณหมอให้การวินิจฉัยผิดพลาด ก็อาจรักษาไม่หาย.... ดังนั้น ทางที่ดี คุณผู้หญิงทั้งหลาย เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับทางเดินปัสสาวะ โดยเฉพาะ ‘ฉี่ไม่ออก’ ควรปรึกษาแพทย์ เพราะคุณอาจไม่เป็นเพียงแค่ทางเดินปัสสาวะอักเสบเท่านั้น ดังกรณีของคุณสุพรรณี หรือคุณยายสุภัทรา โลกนี้ มีสิ่งที่สวยงาม ละลานตามากมาย จงอย่าให้โรคธรรมดาๆ อาทิ ภาวะ‘ฉี่ไม่ออก’ มาทำลายความสวยงามเหล่านี้เลย

พ.ต.อ. นพ. เสรี ธีรพงษ์ ผู้เขียน


วันเสาร์ที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2556

ไขมันอุดตันในเส้นเลือดมีอาการอย่างไร

ไขมันอุดตันในเส้นเลือดมีอาการอย่างไร


สาเหตุ

          โรคไขมันอุดตันในเส้นเลือดจะเกิดขึ้น เมื่อมีการสะสมของไขมันหรือเส้นใยสะสม และก่อตัวเป็นแผ่นไขมันที่ผนังหลอดเลือดแดงใหญ่ แผ่นไขมันที่ก่อตัวขึ้นทำให้หลอดเลือดแดงแคบลงและอาจลดเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะที่สำคัญ เช่น หัวใจและสมองทำให้มีอาการ เช่น คออักเสบ หรือภาวะขาดโลหิตเนื่องจากการอุดตันของทางเดินโลหิตฉับพลัน นอกจากนี้แผ่นไขมันยังสามารถแตกออกได้ทำให้ปิดกั้นกระแสโลหิตทั้งหมดแบบฉับพลัน หากเกิดในหัวใจจะทำให้เป็นโรคหัวใจวาย และหากเกิดในสมองจะทำให้เป็นโรคเส้นโลหิตในสมองอุดตัน  ซึ่งสาเหตุอาจจะมาจาก



          1. กรรมพันธุ์
          2. ที่รับประทานอาหารพวกแป้งมากเกินไป
          3. อ้วน หรือน้ำหนักเกิน
          4. การขาดการออกกำลังกาย
          5. เพศ/อายุ
          6. ดื่มสุรามาก
          7. ความเครียด
          8. ยาบางชนิด เช่น ยาฮอร์โมนsteroid
          9. โรคบางอย่างมักจะร่มกับภาวะไขมันสูงได้แก่ โรคเบาหวาน โรคตับ โรคไต ต่อมธัยรอยด์  ทำงานน้อย


อาการ

          สังเกตง่ายๆบางคนมีอาการคล้ายเป็นโรคหัวใจเช่น เหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก บางคนเป็นจนรู้สึกว่าหัวใจหยุดเต้นไปชั่วขณะก็มี  อันตรายมากนะคะวิธีการรักษาก็มีหลายวิธีตามอาการไป  คนส่วนใหญ่ที่เสียชีวิตจะเป็นแบบเฉียบพลัน คือแสดงอาการและไม่สามารถช่วยชีวิตได้ทันเพราะไม่คิดว่าจะเป็นอาการของโรคนี้ เพราะบางคนจะมีการจุกแน่นที่ลิ้นปี่คล้ายอาการของโรคกระเพาะ


ยารักษา

          1. รักษาโดยใช้ยา
       
          เป็นวิธีการรักษาหลักในรายที่เป็นไม่มาก หรือช่วยลดอาการแน่นหน้าอกหรือเหนื่อยหอบ อาจใช้เป็นวิธีการรักษาเดี่ยวๆ หรือใช้ร่วมกับการรักษาด้วยวิธีอื่น
               - ยาลดไขมันในเลือด ในรายที่มีระดับไขมันในเลือดสูงร่วมด้วย
               - ยากลุ่ม ACEI(=Angiotensin converting enzyme inhibitors)จะมีประโยชน์ในรายที่เป็นกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หรือในราย กล้ามเนื้อหัวใจตายที่มีการบีบตัวของหัวใจลดลงน้อยกว่า 40%

          2. รักษาโดยการสวนหัวใจทำบอลลูนขยายเส้นเลือด

               - ไม่สามารถทำได้ทุกราย
               - ทำได้เฉพาะในรายที่เส้นเลือดมีการตีบเฉพาะจุดอย่างชัดเจน และควรตีบมากกว่า 50% ขึ้นไป
               - มักทำในรายที่มีเส้นเลือดหัวใจตีบ 1-2 เส้น(ถ้าตีบ 3 เส้นการผ่าตัดจะได้ผลดีกว่า)
               - ไม่ควรทำในรายที่มีความเสี่ยงสูง เช่น กรณีเส้นเลือดตีบที่บริเวณโคนของเส้นเลือดแดงโคโรนารี่ด้านซ้าย

          การใส่ขดลวดพร้อมกับการทำบอลลูน(Stenting) ในปัจจุบันมักใส่ stent ร่วมด้วย ในรายที่ต้องทำบอลลูน เพื่อลดอัตราการเกิดตีบซ้ำ ของเส้นเลือด หลังทำบอลลูน จากการศึกษาพบว่า

          ถ้าทำบอลลูนโดยไม่ใส่ stent จะมีอัตราการตีบซ้ำของเส้นเลือด 30-40%

          ถ้าทำบอลลูนพร้อมกับใส่ stentแบบธรรมดา จะมีอัตราการตีบซ้ำของเส้นเลือด 20-30%

          ถ้าทำบอลลูนพร้อมกับใส่ stent แบบเคลือบยาต้านการตีบเส้นเลือด(drug eluting stent) จะมีอัตราการตีบซ้ำของเส้นเลือด <10%

          3. การผ่าตัดเปลี่ยนเส้นเลือด

          ใช้เส้นเลือดบริเวณ แขนทั้งสองข้าง ขาทั้งสองข้าง แล้วนำเส้นเลือดนั้นมาใช้เปลี่ยนบริเวณหัวใจแทนเส้นเลือดเดิมที่มีไขมันอุดตัน ดังนั้นคุณจะมีแผลเป็นรอยกรีดยาวบริเวณแขนด้านในจากข้อมือถึงข้อศอก ทั้งสองแขน ขาบริเวณ หัวเข่าด้านในถึงหว่างขาใกล้อวัยวะเพศทั้งสองข้าง และบริเวณหน้าอกจากคอลงมาถึงใต้ราวนม

          จากนั้นต้องพักรักษาตัวอีกเกือบเดือน คุณจะมีความรู้สึกว่าได้เกิดใหม่ อาการที่ตามมา ก็คือ คุณจะรู้สึกชาบริเวณแผลเป็นในบางครั้ง เพราะเส้นเลือดขาดหายไป ทำให้คุณต้องคอยนวดเนื้อบริเวณนั้นบ่อยๆ ยาก็ต้องกิน ที่สำคัญอาหารเค็มต้องงด เพราะหัวใจจะทำงานหนักมาก

ที่มา http://www.thaipharmacies.org/knowledge/disease/217-blood-vessels.html

วันพฤหัสบดีที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2556

ริมฝีปากเเห้งเกิดจากอะไร

ริมฝีปากเเห้งเกิดจากอะไร


อะไรคือสาเหตุของปากแห้งแตก? (Lisa)

          คุณเคยสงสัยใช่มั้ยว่า บางทีก็ไม่ใช่ฤดูหนาวซะหน่อย แต่ทำไมริมฝีปากถึงแห้งแตกได้อยู่เรื่อย ๆ วันนี้เรามีคำตอบ


          สาเหตุที่ทำให้ปากแห้งแตกนั้น ไม่ใช่มาจากสภาพอากาศที่แห้งในฤดูหนาวอย่างเดียว แต่ยังมีอีกหลายปัจจัยที่เราได้รวบรวมมาฝากคุณแล้ว

          ผิวขาดน้ำ ถ้าคุณดื่มน้ำน้อย ผิวทั่วร่างกายรวมทั้งริมฝีปากก็จะแห้งเพราะขาดน้ำ ฉะนั้น คุณจึงควรดื่มน้ำเยอะ ๆ อย่างน้อยก็วันและแปดแก้ว



          เลียริมฝีปาก คุณอาจคิดว่าการเลียริมฝีปากบ่อย ๆ จะช่วยทำให้ริมฝีปากชุ่มชื้นขึ้น แต่จริง ๆ แล้วเอนไซม์ในน้ำลายจะทำให้ความชุ่มชื้นระเหยออกไปเร็วขึ้น ฉะนั้น ก็หยุดเลียริมฝีปากได้แล้ว



          นอนอ้าปาก การนอนอ้าปากหรือสูดหายใจทางปากบ่อย ๆ ก็ทำให้ปากแห้งแตกได้ เพราะสูญเสียความชุ่มชื้นในขณะเปิดปาก คุณสามารถป้องกันได้โดยทาครีมหรือลิปบาล์มเป็นประจำ

          แพ้สารบางอย่าง เป็นไปได้ว่าสารบางอย่างในลิปสติก หรือเครื่องสำอางทำให้คุณเกิดอาการแพ้ คุณควรหาให้เจอว่าคุณแพ้อะไร แล้วอาการปากแห้งแตกก็จะหายไปเอง

ที่มา lisa