บทความที่ได้รับความนิยม

วันเสาร์ที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2555

อาการปวดเมื่อยเกิดจากอะไร


อาการปวดเมื่อยเกิดจากอะไร

ผู้สูงอายุหลายท่าน มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ยาวันละหลาย ๆ เม็ด และพบว่ายาที่ผู้สูงอายุใช้มากกลุ่มหนึ่ง คือยาแก้ปวด ซึ่งรวมทั้งยาลดอาการอักเสบของกล้ามเนื้อและข้อ ยาชุด และยาลูกกลอน ทั้งนี้เนื่องจากผู้สูงอายุมักจะพบกับปัญหาปวดตามตัว และปวดได้เกือบทุกที่ เช่น ปวดต้นคอ ปวดไหล่ ปวดหลัง เอว ปวดขา และปวดเข่า บางโรคปวดเวลาเดิน พอนอนพักอาการก็จะดีขึ้น บางโรคพอนอนแล้วอาการกลับมากขึ้น พอเดินไปสักพักก็ค่อยยังชั่ว ผู้สูงอายุจึงต้องพึ่งยาเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดเหล่านี้

อาการปวดเมื่อยเกิดได้จากสาเหตุหลายอย่าง ได้แก่



1. การปวดเมื่อยที่มีสาเหตุจากกล้ามเนื้อ

กล้ามเนื้อทำงานมากในบางตำแหน่ง ทำให้เกิดความล้าหรือเกิดอาการหดเกร็งเฉพาะที่ ส่วนใหญ่อาการปวดแบบนี้จะปวด ๆ เมื่อย ๆ ในบริเวณของกล้ามเนื้อที่มีปัญหา มักพบที่ศอกหลังและเอวเป็นส่วนใหญ่ และมักจะเป็นผลมาจากการอยู่ในท่าใดท่าหนึ่ง ที่ไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน ๆ เช่น นั่งก้มหลังมากเกินไป อาจจะเพราะมีความเคยชิน หรือหลังโกงจากกระดูกสันหลังทรุด

กล้ามเนื้อหลังบางส่วนมีการหดเกร็งมากกว่าปกติ ทำให้ปวดได้ สาเหตุที่พบบ่อยอีกประเภทหนึ่ง คือ ท่านอนที่ไม่เหมาะสม เช่น ใช้หมอนสูงเกินไป ทำให้คอเอียงไปข้างใดข้างหนึ่งมากกว่าปกติ ที่นอนนิ่มเกินไป พอลงไปนอนที่นอนยุบตัวลง ทำให้กระดูกสันหลังอยู่ในลักษณะโก่งงอเป็นเวลานาน พอตื่นขึ้นมาจะรู้สึกเมื่อย และในทางกลับกันถ้าใช้ที่นอนแข็งเกินไป และนอนหงายเป็นส่วนใหญ่ กระดูกสันหลังส่วนเอวจะมีการแอ่นตัวผิดปกติ เพราะส่วนก้นและสะโพกก้นติดกับพื้น หนุนให้ส่วนเอวแอ่นขึ้นทำให้ปวดหลังได้เช่นกัน การยกของหนักโดยใช้ท่าที่ไม่ถูกต้อง ก็ทำให้เกิดการปวดเจ็บที่กล้ามเนื้อได้ จึงต้องระมัดระวังเกี่ยวกับการยกของเป็นพิเศษ

2. อาการปวด จากเส้นเอ็น

พบบ่อยบริเวณที่มีการเคลื่อนไหวข้อมาก ๆ เช่น บริเวณไหล่ ศอก ข้อมือ ส้นเท้า เอ็นร้อยหวาย เกิดจากการอักเสบของเส้นเอ็นในบริเวณนี้ และถ้าไม่ได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม อาจจะทำให้เกิดความพิการต่อไป เช่น ไหล่ติด ยกแขนไม่ขึ้น ทำให้ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามที่ควรจะเป็น

3. อาการปวดจากเส้นประสาทถูกกดทับ

ทำให้มีอาการปวดแสบ และร้าวไปตาม เส้นประสาทนั้น ๆ ถ้ามีอาการมาก อาจจะทำให้กล้ามเนื้อที่เลี้ยงด้วยเส้นประสาทนั้นอ่อนแรงลง ถ้าเส้นประสาทที่ไปเลี้ยงขาถูกกด อาจจะทำให้เดินลำบากได้ ตำแหน่งที่พบบ่อยคือที่บริเวณกระดูกคอ เกิดขึ้นจากกระดูกสันหลังบริเวณคอเสื่อม มีแคลเซียมมาเกาะ และกดลงไปที่เส้นประสาทที่ออกจากช่องระหว่างกระดูกคอ

ผู้ป่วยจะมีอาการปวดที่คอ ไหล่ และอาจจะปวด ลงไปที่แขน และมือ ส่วนใหญ่มักจะมีอาการที่คอด้านใดด้านหนึ่ง บางรายถ้าเป็นมากอาจจะเป็นทั้ง 2 ด้านก็ได้

นอกจากที่คอแล้ว บริเวณหลัง เอว ก็เกิดอาการนี้ได้บ่อยเช่นกัน ส่วนมากเกิดจากการยกของหนัก ในท่าที่ไม่ถูกต้อง ทำให้ส่วนของกระดูกสันหลังที่เรียกว่า หมอนรองกระดูก ซึ่งอยู่ระหว่างกระดูกสันหลัง 2 อัน เคลื่อนออกมาจากตำแหน่งเดิม มากดทับเส้นประสาทที่อยู่ใกล้เคียง ผู้ป่วยจะเกิดอาการปวดหลังอย่างมาก และส่วนใหญ่จะเป็นแบบเฉียบพลัน จะมีอาการปวดร้าวไปที่ขาข้างใดข้างหนึ่ง อาการปวดที่รุนแรงจนถึงขั้นต้องนอนพักหลาย ๆ วัน

4. ปวดข้อ

ผู้สูงอายุเป็นโรคข้อได้หลายโรค ที่เจอบ่อยได้แก่ข้อเสื่อม ส่วนมากมักพบที่หัวเข่า โดยเฉพาะในรายที่อ้วนมาก หรือในคนที่ทำงานแบกหาม ต้องแบกของน้ำหนักมาก ๆ นาน ๆ ทำให้ข้อเข่าต้องรับน้ำหนักมากกว่าปกติ ผู้ที่ต้องขึ้นลงบันไดบ่อย ๆ หลาย ๆ ครั้ง และขึ้นลงอย่างรุนแรง (วิ่งหรือกระโดดลง) ทำให้กระดูกอ่อนในข้อเข่าเสื่อมมากกว่าปกติ เมื่ออายุมากขึ้นจะเกิดอาการปวดข้อได้ ลักษณะการนั่งของคนไทยที่นิยมนั่งกับพื้น โดยการนั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิหรือนั่งยอง ๆ มีการพับงอของหัวเข่าอย่างมาก เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อรอบเข่า มีการยืดผิดปกติ และในช่วงที่มีการงอเข่ามาก ๆ เลือดจะมาเลี้ยงเข่าไม่สะดวก ทำให้หัวเข่าไม่แข็งแรง และเกิดปัญหาในเวลาต่อมาได้

นอกจากนี้ที่บริเวณหัวเข่าแล้ว ข้อเสื่อมบริเวณนิ้วมือก็พบได้ไม่น้อยเช่นกัน จะมีอาการปวดและข้อบวมโตกว่าปกติ ที่ข้อนิ้วมือส่วนปลายเกือบทุกนิ้ว ส่วนมากมักพบในสตรี คิดว่าอาจจะเกี่ยวข้องกับการทำงานที่ใช้มือมากเช่น ซักและบิดผ้า เป็นต้น

การปวดข้อที่เกิดจากสาเหตุอื่นได้แก่ จากโรคเก๊าท์ การติดเชื้อในข้อ และโรคข้อชนิดอื่น เช่น รูมาตอยด์ เป็นต้น ผู้ป่วยโรคเก๊าท์ส่วนใหญ่ มักจะเริ่มปวดข้อครั้งแรกในวัยกลางคน มักปวดที่ข้อที่ข้อนิ้วหัวแม่เท้าเป็นส่วนใหญ่ แต่อาจจะปวดที่ข้ออื่น ๆ ก็ได้ อาการปวดมักเริ่มในตอนกลางคืน และปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ จนผู้ป่วยต้องตื่นขึ้นมา ที่ข้อจะมีอาการบวม แดง ร้อนชัดเจน และเจ็บมากเวลามีการเคลื่อนไหวหรือถูกกระทบกระทั่ง สาเหตุเกิดจากกรดยูริกในเลือดไปตกตะกอนที่ข้อ ทำให้เกิดการอักเสบขึ้น ในผู้ป่วยบางรายได้รับการรักษาอาการข้ออักเสบจากเก๊าท์ดีขึ้นแล้ว มักจะคิดว่าหายแล้ว และไม่ได้ติดตามรับการรักษาต่อไป อาจจะกลับมามีอาการปวดข้อได้อีกเป็นระยะ ๆ ส่วนมากจะพบหลังจากการปวดครั้งแรกประมาณ 5-10 ปี ดังนั้นถ้าหากได้รับการวินิจฉัยว่า ปวดข้อจากโรคเก๊าท์ ผู้ป่วยจะต้องดูแลตนเอง ควบคุมอาหารที่อาจจะกระตุ้นให้โรคกำเริบขึ้นอีก แล้วจะต้องพบแพทย์และติดตามการรักษาเป็นระยะ เพื่อควบคุมให้ปริมาณกรดยูริกในเลือดอยู่ในระดับที่เหมาะสม

5. การปวดเมื่อยจากเส้นเลือด

ถ้ามีการผิดปกติของเส้นเลือดแดง หรือเส้นเลือดดำก็จะทำให้เกิดอาการปวดได้ แต่ลักษณะการปวดจะแตกต่างกันไป ถ้าเส้นเลือดแดงตีบแคบลง เลือดเดินไปสู่กล้ามเนื้อไม่สะดวก จะทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยที่กล้ามเนื้อนั้น ๆ ได้ การปวดจะเป็นค่อนข้างเร็ว และมักจะมีอาการจนทำให้ผู้ป่วยต้องหยุดการเคลื่อนไหว หรือการใช้งานของกล้ามเนื้อนั้น ๆ เช่น ถ้าเส้นเลือดแดงที่ขาตีบ ถ้าเดินมากกล้ามเนื้อขาต้องการเลือดไปเลี้ยงมากขึ้น แต่เลือดไปไม่ได้ ทำให้กล้ามเนื้อทำงานต่อไปไม่ไหว เกิดอาการเจ็บปวดจนต้องหยุดเดินและนั่งพัก หลังจากหยุดเดินสักพักอาการดีขึ้น ปวดลดลง ก็สามารถจะเดินต่อไปได้อีก

หลอดเลือดดำผิดปกติ เกิดจากหลอดเลือดดำมีการโป่งพอง เนื่องจากลิ้นกั้นในหลอดเลือดดำผิดปกติไป ส่วนใหญ่เกิดขึ้นที่ขา พบในคนที่ต้องยืนทำงานเป็นเวลานาน ๆ และอาจพบบ่อยในสตรีที่มีบุตรหลาย ๆ คน เพราะการตั้งครรภ์บุตรแต่ละคนนั้น เมื่อทารกในครรภ์โตขึ้น ก็จะกดลงที่เส้นเลือดดำในช่องท้องส่วนล่าง ทำให้เลือดดำจากขากลับสู่ช่องท้องไม่สะดวก เลือดจึงคั่งอยู่ที่ขา ทำให้ลิ้นกั้นในหลอดเลือดดำเสีย เกิดอาการปวดเมื่อยที่กล้ามเนื้อซึ่งมีเลือดคั่งอยู่ ส่วนมากจะมีอาการตอนช่วงเย็นของวันที่มีการยืนมาก ๆ และบางครั้ง อาจปวดมากขึ้นในเวลานอน ถึงขั้นรบกวนการนอนหลับก็เป็นได้


หลักในการป้องกันและรักษาผู้ที่มีปัญหาปวด เมื่อย


ประกอบด้วย 3 ส่วนคือ

การถนอมใช้

ขา เข่า เท้า เป็นอวัยวะที่ช่วยให้เราเคลื่อนไหวไปมาในที่ต่าง ๆ ได้ ควรใช้อย่างเหมาะสม หลีกเลี่ยงท่านั่งที่ทำให้เกิดปัญหาต่อหัวเข่า หลีกเลี่ยงการยืนอยู่เฉย ๆ เป็นเวลานาน แต่ถ้ามีความจำเป็นเพราะอาชีพบังคับ ก็ต้องพยายามหาช่วยเหลือให้อวัยวะส่วนนั้นรับภาระเท่าที่จำเป็น หลีกเลี่ยงการวิ่งหรือกระโดดบนพื้นที่ขรุขระ เพราะทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อข้อเท้าและหัวเข่า พยายามอย่าอ้วน เพื่อมิให้เข่าต้องรับน้ำหนักตัวมากเกินจำเป็น ส่วนการถนอมใช้กระดูกสันหลั งและกล้ามเนื้อหลังนั้น หลักใหญ่ควรอยู่ที่รู้จักทรงตัว และอยู่ในท่าที่เหมาะสมทั้งท่านั่ง นอน ยืนและเดิน การยกของหนักก็ต้องมีวิธียกที่ถูกต้อง เพื่อป้องกันการเกิดอันตรายต่อกล้ามเนื้อหลังและกระดูกสันหลัง

การเพิ่มศักยภาพ

กล้ามเนื้อในผู้สูงอายุมีการฝ่อ ลีบไปตามวัย ยิ่งอายุมากขึ้นปริมาณกล้ามเนื้อในร่างกายก็ลดลงเรื่อย ๆ ทำให้ขาดความแข็งแกร่ง และเมื่อต้องทำงานที่เกินความสามารถของกล้ามเนื้อนั้น ก็จะทำให้เกิดการหดเกร็งตัวผิดปกติ อาจมีการบาดเจ็บทำให้เกิดอาการเจ็บปวดได้ จึงควรออกกำลังบริหารกล้ามเนื้อที่ต้องรับภาระหนักเสมอ ๆ เช่น กล้ามเนื้อคอ ไหล่ แขน หลัง หน้าท้อง ให้แข็งแรงเพื่อสามารถปฎิบัติภาระกิจได้ตามความจำเป็น การฝึกกล้ามเนื้อรอบข้อสม่ำเสมอ ทำให้ข้อนั้นมีความมั่นคงไม่เกิดการบาดเจ็บง่าย ๆ ผู้ที่มีปัญหาเส้นเลือดขอดหรือเส้นเลือดดำโป่งพองทำให้ปวดขา สามารถผ่อนคลายอาการได ้โดยใช้ถุงเท้ายาวหรือผ้ายืดที่มีลักษณะเป็นถุงใส่รัดขา ซึ่งจะช่วยบังคับให้เลือดไหลกลับเข้าสู่ช่องท้องได้ดีขึ้น

การพยาบาล

เมื่อมีอาการเจ็บปวดเฉียบพลัน ในบางกรณีอาจมีการเจ็บปวดอย่างมากที่กล้ามเนื้อ ข้อ หรือที่กระดูกต่าง ๆ การช่วยเหลือในระยะต้นได้แก่

หยุดพักร่างกายส่วนนั้น

ถ้าอาการปวดเกิดจากการเกร็งตัวหรือการอักเสบของส่วนนั้น ๆ ให้ประคบความร้อน แต่ถ้ามีอาการบาดเจ็บเลือดออกในข้อหรือกล้ามเนื้อ จะต้องประคบด้วยความเย็นใน 24 ชั่วโมงแรกของการบาดเจ็บเพื่อให้เลือดหยุด หลังจาก 24 ชม. ไป แล้วจึงจะให้ประคบอุ่นหรือประคบความร้อน
ถ้ามีอาการมากต้องปรึกษาแพทย์

หลังจากผ่านช่วงความเจ็บปวดเฉียบพลันแล้ว จะต้องบริหารส่วนที่บาดเจ็บอย่างช้า ๆ และสม่ำเสมอ เพื่อให้ส่วนนั้นได้กลับมาทำงานต่อไป และลดภาวะ เอ็นยึด ข้อติด ซึ่งจะทำให้เกิดเป็นภาวะทุพพลภาพได้

© 2001 พญ. สิรินทร ฉันศิริกาญจน

วันพฤหัสบดีที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ไขมันเเบ่งมีประเภทต่างๆ


ไขมันเเบ่งมีประเภทต่างๆ

ไขมันแบ่งได้เป็น 3 ชนิดใหญ่ ๆ คือ

คอเลสเตอรอล เป็นส่วนประกอบของเยื่อหุ้มเซลล์ เป็นองค์ประกอบสำคัญในเยื่อของสมองและระบบประสาท ใช้สร้างกรดน้ำดี ทั้งยังเป็นวัตถุดิบในการสร้างฮอร์โมนบางชนิด เช่น ฮอร์โมนเพศชาย ฮอร์โมนเพศหญิง และฮอร์โมนคอร์ติโซน และเป็นส่วนประกอบในโมเลกุลของวิตามิน ร่างกายสามารถสร้างคอเลสเตอรอลขึ้นเองได้จากตับ คอเลสเตอรอลที่ได้จากอาหารมีเฉพาะในอาหารที่มาจากสัตว์เท่านั้น มีมากในอาหารบางชนิด เช่น ไข่แดง เครื่องในสัตว์ มันสัตว์ สัตว์น้ำบางชนิด


ฟอสโฟไลปิด เป็นไขมันชนิดหนึ่งที่ร่างกายใช้เป็นส่วนประกอบของเยื่อหุ้มเซลล์ เช่น เซลล์เม็ดเลือดแดง เซลล์ผนังหลอดเลือด เป็นต้น นอกจากนี้ยังเป็นสารลดความตึงผิวที่อยู่ภายในถุงลมของปอด ถ้าขาดสารนี้เสียแล้ว ถุงลมปอดก็ไม่อาจพองตัวได้ในยามที่เราสูดลมหายในเข้าไป ฟอสโฟไลปิดจึงเป็นทั้งสารที่ร่างกายต้องใช้ในขณะทำงานตามสรีรภาพของร่างกาย

ไตรกลีเซอไรด์ ส่วนใหญ่ไขมันที่เรากินไปทั้งหมด ก็คือไตรกลีเซอไรด์ ช่วยสร้างความอบอุ่นให้แก่
ร่างกาย และยังเป็นตัวทำละลายสำหรับวิตามินกลุ่มมี่ละลายในไขมัน ได้แก่ วิตามินเอ ดี อีและเค
ไตรกลีเซอไรด์ จะประกอบด้วย ไตรกลีเซอรอลกับกรดไขมันอีก 3 โมเลกุล

กรดไขมัน แบ่งได้เป็น 2 ชนิดใหญ่ ๆ ตามโครงสร้างทางชีวเคมี คือ

กรดไขมันอิ่มตัว (saturated fatty acid) จะมีอะตอมของคาร์บอนที่ต่อกันเป็นลูกโซ่ด้วยพันธะเดี่ยวเท่านั้น  โดยที่แขนของคาร์บอนแต่ละตัวจะจับอะตอมของไฮโดรเจนเต็มไปหมด ไม่มีแขนว่างอยู่เลยไขมันชนิดนี้จะมีอยู่ในอาหารจำพวกที่ เราเห็นเป็นชั้นสีขาวติดอยู่ในเนื้อสัตว์ หรือหนังสัตว์ปีก ไข่แดง น้ำมันหมู เนย นม ผลิตภัณฑ์จากนม รวมถึงน้ำมันที่ได้จากพืชบางชนิดก็เป็นแหล่งไขมันอิ่มตัวด้วย เช่น กรดไขมัน พาลมิติก (palmitic) ที่มีมากในน้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว ในไขมันสัตว์และผลิตภัณฑ์นมเนย กรดไขมันชนิดนี้จะมีสถานะอันเฉื่อยเนือยในกระบวนการเคมีของร่างกาย ถ้าไม่ถูกย่อยไปใช้เป็นพลังงานก็มีแนวโน้มที่จะตกตะกอนในหลอดเลือด ทำให้ไขมันในเลือดสูง เกิดความเสี่ยงที่จะอุดตันในหลอดเลือดได้ เป็นต้นเหตุของโรคความดันโลหิตสูง หัวใจและสมองขาดเลือด เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ฯลฯ

กรดไขมันไม่อิ่มตัว(unsaturated fatty acid)  จะมีอะตอมของคาร์บอนที่เรียงตัวกันเกิดมีบางตำแหน่งที่จับไฮโดรเจนไม่เต็มกำลังเกิดมีแขนคู่ (double bond) อยู่บางตำแหน่ง ทำให้มันมีความว่องไวในปฏิกิริยาทางเคมีพร้อมที่จะเปิดรับปฏิกิริยาต่าง ๆ ด้านหนึ่งก็เป็นประโยชน์แก่ร่างกาย การบริโภคไขมันชนิดนี้จะช่วยให้     คอเลสเตอรอลในเลือดลดลงแต่อีกด้านหนึ่งก็พร้อมที่จะทำปฏิกิริยากับออกซิเจนเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นกลายเป็นอนุมูลอิสระตัวก่อปัญหาทางสุขภาพ

2.1 กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว เรียกว่า monounsaturated fatty acid (MUFA) เป็นกรดไขมันที่มีธาตุคาร์บอนต่อกันด้วยพันธะคู่เพียงหนึ่งตำแหน่ง การรับประทานอาหารไขมันประเภทนี้ ทดแทนไขมันอิ่มตัวจะช่วยลดระดับ LDL Cholesterol ซึ่งเป็นไขมันที่ไม่ดีก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดตีบ
* อาหารที่มีกรดไขมันชนิด MUFA ได้แก่ อะโวคาโด ถั่วลิสง น้ำมันมะกอก และคาโนลา

2.2 กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน เรียกว่า polyunsaturated fatty acid (PUFA) หมายถึง กรดไขมันที่มีธาตุคาร์บอนต่อกันด้วยพันธะคู่อยู่หลายตำแหน่ง หากรับประทานแทนไขมันอิ่มตัว จะไม่เพิ่มระดับไขมันในร่างกาย

* อาหารที่มีไขมันชนิด PUFA ได้แก่ น้ำมันพืชทั้งหลาย เช่น น้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกทานตะวัน และน้ำมันดอกคำฝอย

น้ำมันพืชทุกชนิดมีส่วนประกอบของไขมันอิ่มตัวไขมันไม่อิ่มตัวแบบโมเลกุลเดียว และไขมันไม่อิ่มตัวแบบหลายโมเลกุลในสัดส่วนที่แตกต่างกันไป

พึงมีข้อระวังอย่างหนึ่งว่า น้ำมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวยิ่งสูง ยิ่งไวต่อการทำปฏิกิริยากับออกซิเจน เกิดเป็นอนุมูลอิสระอันเป็นสารพิษที่บั่นทอนสุขภาพ โดยเฉพาะการทำให้ร้อนจัด เช่น การทอด ร้อนจัด หรือใช้เป็นน้ำมันทอดซ้ำ ๆ เพราะความร้อนในการทอดครั้งแรกก็ได้ทำลายแขนคู่ในน้ำมันไปแล้วดังนั้นจึงไม่ควรปรุงอาหารด้วยความร้อนสูงจัดเกินไป

ในปี 1993, คณะกรรมการจาก Harvard University School of Public Health และ the Oldways Preservation and Exchange Trust, a Boston based educational organization ได้ทบทวนหลายๆการศึกษาทางระบาดวิทยา พบว่ามีความสัมพันธ์ด้านวัฒนธรรมการบริโภคอาหารของชาวเมดิเตอร์เรเนียน (แถบกรีซ ทางใต้ของอิตาลี และทางเหนือของแอฟริกา) กับการลดอุบัติการณ์การเป็นโรคหัวใจและมะเร็ง อาหารของชาวเมดิเตอร์เรเนียน มีพาสต้า พร้อม ผักสด ผลไม้ ถั่ว เมล็ดพืช อาหารส่วนใหญ่ปรุงด้วยน้ำมันมะกอก (แหล่งไขมันไม่อิ่มตัวแบบหลายโมเลกุลสูงที่สุด) ส่วนเนื้อสัตว์มีตำแหน่งบนโต๊ะอาหารเป็นเพียงเครื่องเคียงไม่จัดเป็นอาหารจาน หลักในแต่ละมื้อ

การเลือกน้ำมันปรุงอาหาร

ควรเลือกน้ำมันพืชชนิดที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวโมเลกุลเดี่ยวในปริมาณสูง และมีกรดไขมันไม่อิ่มตัวแบบหลายโมเลกุลปานกลาง และมีกรดไขมันอิ่มตัวต่ำ ซึ่งน้ำมันพืชก็จะเหม็นหืนน้อยกว่าน้ำมันจากสัตว์ เพราะในน้ำมันพืชมีวิตามินอี ที่เป็นตัวต้านการทำปฏิกริยาระหว่างออกซิเจนและคาร์บอนของโมเลกุลในน้ำมันพืช

แล้วจะกินอย่างไรให้มีสุขภาพดี

คำตอบคือไม่ควรกินไขมันทั้งหมดเกิน 30% ของปริมาณแคลอรีที่ร่างกายได้รับในแต่ละวัน     หมายถึง ไขมันทุกชนิดรวมกัน คือ ไขมันอิ่มตัว ไขมันไม่อิ่มตัวแบบโมเลกุลเดี่ยวและไขมันไม่อิ่มตัวแบบหลายโมเลกุล และไม่ควรรับไขมันอิ่มตัวเกิน 10% ของปริมาณแคลอรีทั้งหมดต่อวัน รับประทานอาหารในแต่ละวันให้หลากหลาย และให้พลังงานรวมแล้วเพียงพอ ต่อการรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยหลีกเลี่ยงรับประทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เช่น กะทิ ไขมันจากสัตว์ หนังสัตว์ เนื้อสัตว์ที่มีมันติดมากๆ เช่น หมูสามชั้น เพราะกรดไขมันอิ่มตัวส่วนใหญ่ ทำให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงขึ้น แม้ว่าน้ำมันพืชที่มีปริมาณไขมันไม่อิ่มตัวสูง จะดีต่อสุขภาพของเรามากกว่าไขมันอิ่มตัวก็ตามแต่ก็ควรกินในปริมาณพอเหมาะ หากได้รับปริมาณมากเกินไป จะไม่ต่างอะไรกับการกินอาหารที่มีไขมันสูง คือเพิ่มความเสี่ยงที่จะมีน้ำหนักตัวเกินเป็นโรคอ้วน ก่อให้เกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ปัญหาหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงโรคมะเร็ง

From แพทย์หญิงสายพิณ  โชติวิเชียร

วันจันทร์ที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2555

กลิ่นตัวเเรงมีวิธีการรักษาอย่างไร

กลิ่นตัวเเรงมีวิธีการรักษาอย่างไร

     คนเราแต่ละคนและแต่ละเชื้อชาติจะมีกลิ่นตัว เป็นลักษณะเฉพาะของคนนั้นๆ บางคนก็มีกลิ่นตัวค่อนข้างจะเป็นเสน่ห์ คือ กลิ่นตัวหอม น่าสูดดมในขณะที่อีกหลายคนจะมีกลิ่นตัวไม่สู้จะน่าคบหาสมาคมเท่าใดนัก

       เพราะมีกลิ่นตัวแรง แต่คนที่น่าสงสารที่สุดก็คือผู้ที่มีกลิ่นตัวเหม็นจนเป็นที่น่ารังเกียจของสังคม
ในปัจจุบันนี้เป็นที่ทราบว่าคนที่มีกลิ่นตัวเหม็นมากๆ คล้ายกลิ่นของปลาเน่า คือคนที่เป็นโรค “Fish-Malodor Syndrome”ซึ่งมีการถ่ายทอดทางพันธุกรรมไปยังลูกหลานได้ด้วย โดยวิธีทางพันธุกรรมที่ชื่อว่า “Mendelianautosomal recessive transmission”



      คนที่เป็นโรค Fish-Malodor Syndrome (FOS ) หรือที่มีชื่อเรียกทางวิทยาศาสตร์ว่า Primary trimethylaminuria นั้นนับว่าเป็นผู้ที่โชคร้ายมากเพราะเป็นที่รังเกียจของสังคมและบุคคลทั่วไปแม้กระทั่งในสมาชิกของครอบครัวตนเอง คนเหล่านี้มักจะพยายามไปหาแพทย์ พระ หรือแม้กระทั่งหมอผีเพื่อที่จะทำให้กลิ่นตัวของตนเองทุเลาลง บางคนที่หมอทั้งหลายรักษาแล้วไม่หาย ก็อาจจะได้รับการอธิบายว่าชาติก่อนคงไปกระทำบาปอะไรไว้ต่างๆ นานา และบางคนที่ไปพบแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งไม่เข้าใจถึงพยาธิสภาพของการเกิดกลิ่นตัวเหม็นนี้ ก็อาจจะแนะนำให้ผู้โชคร้ายเหล่านี้รับประทานยาคลายเครียดยาคลายกังวล หรือยากล่อมประสาท ซึ่งเป็นที่น่าสลดใจมาก เพราะว่าหลังจากการรับประทานยาเหล่านี้เข้าไปแล้ว ไม่เพียงแต่จะทำให้ผู้ป่วยมีสภาวะทางจิตไม่ดีขึ้นแล้ว ยังทำให้กลิ่นตัวเหม็นขึ้นกว่าเดิมอีกด้วย

ในสหรัฐอเมริกาและในสหราชอาณาจักร ผู้ป่วยที่เป็น FOS คนหนึ่งๆ อาจจะต้องเสียค่ารักษาไปเป็นเงินถึงกว่าหนึ่งแสนดอลล่าร์ แต่ก็ยังไม่อาจทำให้อาการกลิ่นตัวเหม็นลดลง หลายคนมีอาการทางจิต และคิดสั้นถึงกระทั่งคิดจะฆ่าตัวตายก็มี สำหรับในประเทศทางแถบเอเซียนั้นอุบัติการณ์ของ FOS นั้นคงไม่น้อยไปกว่าร้อยละ 1 และก็ไม่ยากนักที่จะพบคนที่เป็นโรคนี้ในบ้านเราเพราะว่าในประเทศไทยนั้นประกอบไปด้วยชนชั้นหลายเผ่าพันธุ์ และการแต่งงานของประชาชนก็เป็นไปอย่างเสรี ไม่มีสิ่งใดกีดกั้น จึงเป็นเรื่องง่ายที่เกิดการกลายพันธุ์ของยีนส์ซึ่งเป็นสารพันธุกรรมที่ทำหน้าที่ควบคุมการเกิดโรคนี้

ผู้เขียนได้ให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องโรคกลิ่นตัวเหม็น หรือ FOS มามากว่า 15 ปีแล้ว โดยการกระตุ้นจาก Professor Robert L. Smith จากมหาวิทยาลัยลอนดอน ในประเทศสหราชอาณาจักร และก็รู้สึกว่าจะเป็นผู้ที่โชคดี ที่ผลงานวิจัยได้รับการตีพิมพ์ในวารสารอันทรงเกียรติ และได้รับรางวัล ”The 1998 Wellcome Trust Award for a Study of Rare Disease” จากกองทุน Wellcome Trust ของประเทศสหราชอาณาจักร ซึ่งนับว่าเป็นเกียรติประวัติแก่ผู้เขียนและประเทศไทยเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากจะได้รับรางวัลนี้แล้ว ยังได้รับเชิญให้ไปบรรยายในการประชุมระดับโลก เรื่อง “ การมีกลิ่นตัวเหม็นของร่างกาย (Fish-Malodor Syndrome )” เมื่อวันที่ 29-30 มีนาคม พ.ศ. 2542 ซึ่งจัดขึ้นที่ National Institutes of Health (NIH ) เมือง Bethesda ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยได้รับการสนับสนุนเรื่องค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการวิจัยจาก NIH และกองทุน Wellcome Trust อีกด้วย

สาเหตุของการเกิดโรค

กลิ่นตัวของคนที่เป็นโรค FOS นั้นจะเหมือนกันกับกลิ่นของปลาเน่า ซึ่งโดยแท้จริงแล้วก็คือกลิ่นของสารเคมีชื่อ trimethylamine (TMA ) ที่ถูกกำจัดออกมาจากเหงื่อ ปัสสาวะ และน้ำคัดหลั่งของร่างกายเรานั่นเอง สาร TMA นี้เป็น metabolic product ของอาหารต่างๆ ที่เรารับประทานกัน และจะมีมากในอาหารประเภทไข่แดง เนื้อสัตว์ และถั่วหลายชนิด กล่าวโดยย่อก็คือเมื่อเรารับประทานอาหารดังกล่าวเข้าไป แบคทีเรียในทางเดินอาหารซึ่งมีอยู่มากกว่า 70 ชนิด ก็จะเปลี่ยนแปลงสารเคมีที่มีอยู่ในอาหาร 3 ตัวคือ choline,betaine และ carnitine ให้เป็น TMA ซึ่งก็จะถูกดูดซึมเข้าไปในร่างกายโดยผ่านทางกระแสเลือด

ในคนที่ไม่เป็นโรค FOS นั้น TMA ก็จะถูกเอนไซม์ของตับชื่อ flavin-containing monooxygenase ฟอร์มที่ 3 (FMO3 ) ทำลายด้วยการเปลี่ยนเป็นสารชื่อ TMA-0 (trimethylamine N-oxide ) ซึ่งเป็นสารที่ละลายน้ำได้ดีและไม่มีกลิ่นเหม็นเลย แล้วก็ถูกขับออกร่างกายทางน้ำคัดหลั่งต่างๆ รวมทั้งในปัสสาวะด้วย แต่ในคนที่เป็นโรค FOS นั้น TMA จะไม่ถูกเปลี่ยนแปลงเลยเพราะ FMO3 gene ของตับไม่สามารถสร้างเอนไซม์ตัวนี้ได้เพียงพอ อันเนื่องมาจากความผิดปกติทางพันธุกรรม ดังนั้น TMA จึงถูกกำจัดออกมาจากร่างกายในปริมาณที่มาก จึงทำให้ปัสสาวะ เหงื่อ และลมหายใจมีกลิ่นเหม็นมากคล้ายกลิ่นปลาเน่า ซึ่งทั้งหมดที่ได้กล่าวมานี้สามารถสรุปเป็นกลไกการเกิดโรคกลิ่นตัวเหม็นดังแสดงไว้ในรูปที่ 1

ยังมีอีกหลายสภาวะที่ทำให้ FMO3 ของร่างกายทำงานได้ไม่ดีเท่าที่ควร เช่น ได้รับยาบางชนิด (steroids, TCAs, ranitidine ), โรคตับพิการ โรค Turner’s syndrome, Noonan’s syndrome หรือแม้กระทั่งในระหว่างการมีประจำเดือนของสตรี เป็นต้น


ที่จริงแล้ว TMA นี้ไม่ใช่ตัวที่จะคุกคามการดำเนินชีวิตของคนเรา แต่มันก็สามารถทำให้คนที่เป็นโรค FOS นี้หลายรายพยายามที่จะหาวิธีรักษาและขจัดมัน เช่น การสูบบุหรี่จัดเพื่อจะบดบังกลิ่นเหม็นของ TMA การใช้ยาดับกลิ่น ใช้สมุนไพรหรือใช้น้ำหอม เป็นต้น บ่อยครั้งที่แพทย์ไม่เข้าใจกลไกของการเกิดโรคกลิ่นตัวเหม็น ก็จะแนะนำวิธีการรักษาที่ผิดๆ เช่น ผ่าตัดต่อมเหงื่อ ผ่าตัดต่อมไทรอยด์ ผ่าตัดมดลูก หรือให้รับประทานยาจำพวก benzodiazepines เข้าไปเป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้ก็ไม่ได้ผลเลย ยิ่งกว่านั้นยากล่อมประสาทและยาคลายเครียดทั้งหลาย ยังให้ผลร้ายแก่ผู้ที่มีกลิ่นตัวเหม็นเหล่านี้อีกด้วย กล่าวคือทำให้กลิ่นตัวเหม็นมากขึ้น เพราะมันไปยับยั้งการทำงานของ FMO3 ซึ่งยังส่งผลให้ระดับของ TMA ในร่างกายสูงมากขึ้นด้วย



วิธีวินิจฉัย

โดยทั่วไปคนปกติจะกำจัด TMA ออกมาทางปัสสาวะโดยเฉลี่ยวันละ 30-50 มิลลิกรัม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะอาหารที่รับประทาน แต่ปริมาณของ TMA นี้จะนำมาใช้เป็นตัวกำหนด บอกว่าใครเป็นโรค FOS คงไม่ได้ เพราะว่าค่าของมันในแต่ละวันเปลี่ยนแปลงได้ง่ายสำหรับแต่ละคน

ดัชนีที่น่าจะเป็นตัวชี้บอกของโรคนี้ก็คือค่า metabolic ratio (MR ) ซึ่งได้แก่อัตราส่วน TMA/TMA-O ของสารทั้งสองตัวนี้ที่ถูกกำจัดออกมาทางปัสสาวะ ซึ่งในคนปกติจะมีค่าน้อยกว่า 1.0 เสมอ แต่สำหรับคนที่เป็นโรค FOS ค่านี้ก็จะสูงมากกว่า 1.0 เสมอเช่นกัน อาจจะสูงถึง 5.0-6.0 ด้วยซ้ำไป ทั้งนี้เพราะในคนปกติ TMA จะถูกเอนไซม์ FMO3 ของตับทำลายเกือบร้อยละ 100 จึงทำให้ค่า MR ต้องน้อยกว่า 1.0 เสมอ เช่นกัน

อย่างไรก็ดี นอกจากจะใช้ค่า MR สำหรับการตรวจวินิจฉัยแล้ว ยังต้องซักประวัติและตรวจสอบกลิ่นตัวของผู้ป่วยโดยการดมด้วยจมูกโดยตรงอีกด้วยเพราะบางคนอาจมีกลิ่นตัวเหม็นไม่มาก ทั้งๆที่มี MR ค่อนข้างสูง ทั้งนี้เพราะผู้ป่วยอาจจะมีการรักษาและดูแลอนามัยของตนเองดีมาก แต่ถ้าจะให้แน่นอนแล้วจะต้องทำ genotyping test เพื่อยืนยัน โดยพบว่า mutation เกิดขึ้นที่ exon ใด exon หนึ่งในโครโมโซมคู่ที่ 1 เช่น มี missense mutationPro153Leu เกิดขึ้นกับผู้ป่วยโรคนี้รายหนึ่ง เป็นต้น

วิธีการรักษา

เป็นที่น่ายินดีว่าในขณะนี้มีวิธีการรักษา FOS ที่ถูกหลักวิชาการ กล่าวคือพยายามลดอาหารที่มี choline สูงเพราะสารตัวนี้จะถูกแบคทีเรียในทางเดินอาหารเปลี่ยนไปเป็น TMA แล้วถูกดูดซึมเข้าร่างกาย ตัวอย่างอาหารดังกล่าว เช่น ปลาเค็ม เนื้อสัตว์ ถั่วเหลือง ไข่แดงและถั่ว เป็นต้น (ตารางที่ 1 ) การรักษาอีกวิธีหนึ่งก็คือการใช้ยาปฎิชีวนะ เช่น metronidazole (Flagyl ) เพื่อไปยับยั้งการทำงานของแบคทีเรียดังกล่าว แต่วิธีนี้อาจจะเสี่ยงต่อการแพ้ยา หรือการเกิดผลข้างเคียงอันเกิดจากการใช้ยา (ตารางที่ 2 ) สำหรับวิธีที่ดีที่สุดที่หลายสถาบันกำลังพัฒนาอยู่ในขณะนี้ก็คือการตัดต่อยีนส์ (gene therapy ) เพื่อเร่งให้ร่างกายสามารถผลิต FMO3 ให้ทำงานได้เช่นปกติ

วันเสาร์ที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2555

อัมพาตมีวิธีการรักษาอย่างไร

อัมพาตมีวิธีการรักษาอย่างไร


 ในปัจจุบันที่คนเรามีอายุยืนขึ้น เนื่องมาจากปัจจัยหลายประการ เช่น การที่เรามีการดูแลสุขภาพร่างกาย การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การพักผ่อนที่เพียงพอและการรับประทานอาหารที่เป็นประโยชน์ เป็นต้น



          ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราละเลยสิ่งเหล่านี้ เช่น นอนดึก สูบบุหรี่จัด ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำ ทำให้เกิดเจ็บป่วยเป็นโรคต่าง ๆ ได้ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคตับ และในบรรดาโรคต่าง ๆ เหล่านี้ โรคอัมพฤกษ์ อัมพาต เป็นโรคหนึ่งที่ไม่เพียงมีผลต่อผู้ป่วยเอง แต่ยังมีผลกระทบอย่างมากต่อญาติของผู้ป่วยด้วย ทั้งในแง่เวลา ค่ารักษาพยาบาลและการขาดรายได้ของญาติที่ต้องคอยพาผู้ป่วยมาหาแพทย์ ดังนั้นโรค อัมพาต จึงมีผลกระทบอย่างมาก ต่อเศรษฐกิจโดยรวมด้วย




 อัมพาต คืออะไร

          อัมพาต (Stroke) เป็นคำที่ใช้เรียกอาการอ่อนแรงครึ่งซีกหรือแตกก็ของร่างกาย หรือ ครึ่งท่อนล่างของร่างกาย ที่มีสาเหตุจากโรคหลอดเลือดสมอง หรือไขสันหลัง ซึ่งเกิดจากหลอดเลือดตีบหรือแตกก็ได้

          องค์การอนามัยโลก (World Health Organization หรือ WHO) ได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า

          "เป็นอาการที่เกิดอย่างปัจจุบันทันที ต่อการทำงานของสมองบางส่วน หรือทั้งหมด โดยที่อาการนั้นเป็นอยู่นาน 24 ชม. หรือทำให้สูญเสียชีวิต ซึ่งมีสาเหตุมาจากโรคของหลอดเลือดเท่านั้น"

          คำว่า " อัมพาต" เรามักจะหมายถึง อาการอ่อนแรงจนไม่สามารถขยับเขยื้อนร่างกายได้เลย

          ส่วนคำว่า " อัมพฤกษ์ " เราหมายถึงอาการอ่อนแรงที่ผู้ป่วยยังพอขยับร่างกายส่วนนั้นได้บ้าง โดยทั่วไปเรามักจะนึกว่า อัมพาต อัมพฤกษ์ จะต้องมีอาการอ่อนแรงเสมอ แต่โดยความเป็นจริงแล้ว การที่มีอาการชา หรือมีความรู้สึกลดน้อยลงครึ่งซีก ทั้งในแง่การรับรู้สัมผัส ความเจ็บปวด ความรู้สึกร้อนหรือเย็นที่ลดลง ก็เกิดจากโรคหลอดเลือดสมองได้ทั้งนั้น

          อาการจะต้องเกิดในทันทีทันใด เช่น ตื่นนอนเช้า ขณะกำลังทำงาน หรือกำลังทำกิจวัตรต่าง ๆ แล้วมีอาการชา หรืออ่อนแรงในบางคนอาจจะมีอาการเตือนมาก่อน เช่น มีอาการอ่อนแรงครึ่งซีก ตาข้างหนึ่งข้างใดมองไม่เห็นชั่วระยะเวลาสั้น ๆ แต่เป็นนาที หรือเป็นชั่วโมง แล้วอาการดีขึ้นเป็นปกติ ซึ่งถ้าผู้ป่วยมีการเตือนแล้วรีบมาพบแพทย์ ก็จะมีประโยชน์ในแง่ของการป้องกันการเกิด อัมพาต อัมพฤกษ์ได้

 อัมพาต พบในผู้สูงอายุบ่อยแค่ไหน

          จากการศึกษาของต่างประเทศพบว่า อัมพาต จะพบมากขึ้นตามอายุทั้งเพศชายและหญิง เช่น

           อายุ 45-54 ปี พบ อัมพาต ประมาณ 1 ต่อ ประชากร 1,000 ราย

           อายุ 56-64 ปี พบ อัมพาต ประมาณ 1 ต่อ ประชากร 100 ราย

           อายุ 75-84 ปี พบ อัมพาต ประมาณ 1 ต่อ ประชากร 50 ราย

           อายุมากกว่า 85 ปี พบ อัมพาตประมาณ 1 ต่อ ประชากร 30 ราย

          นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ชายมีความเสี่ยงมากกว่าผู้หญิง ในช่วงอายุ 45-64 ปี แต่ถ้าอายุมากกว่า 65 ปีแล้ว โอกาสในการเกิด อัมพาต จะค่อนข้างเท่ากัน

 อะไรเป็นสาเหตุของ อัมพาต

          จากการศึกษาพบว่า ความดันโลหิตสูงโรคหลอดเลือดหัวใจ หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ เบาหวาน สูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ ล้วนเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิด อัมพาต ทั้งสิ้น เช่น ผู้ที่มีโรคหลอดเลือดหัวใจ มีโอกาสเป็นอัมพาตมากกว่าคนไม่เป็นประมาณ 1-3 เท่า เป็นต้น ดังนั้น การควบคุมปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

 ทำอย่างไรจะป้องกัน อัมพาต ได้

          ดังได้กล่าวมาแล้ว การควบคุมปัจจัยเสี่ยงล้วนสามารถป้องกันการเกิด อัมพาต ได้ การป้องกันในระยะยังไม่มี อัมพาต เป็นสิ่งที่แพทย์สามารถให้คำแนะนำได้

           ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 45 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะผู้ที่สูบบุหรี่จัด มีประวัติเบาหวานในครอบครัว  จำเป็นต้องได้รับการตรวจร่างกาย วัดความดันโลหิต เอ็กซเรย์ปอด คลื่นไฟฟ้าหัวใจ ตรวจเลือดหาระดับน้ำตาล ไขมัน ตลอดจนการตรวจหาเชื้อซิฟิลิสในเลือด อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง จะเป็นการทำให้เราทราบว่ามีโรคประจำตัวหรือไม่ เมื่อพบว่ามีโรคเหล่านี้ตั้งแต่ระยะแรก ๆ จะทำให้การควบคุมและการป้องกันแทรกซ้อนของโรคสามารถทำได้ง่าย

           สำหรับผู้ป่วยบางรายที่มีโรค อัมพาต อยู่แล้ว และกำลังรักษาอยู่ สิ่งที่สำคัญก็คือ ทำอย่างไรให้อาการนั้นดีขึ้น และป้องกันไม่ให้เกิดอัมพาตซ้ำ การควบคุมอาหาร เลือกรับประทานแต่อาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผู้ป่วยที่มีโรคเบาหวานควรควบคุมอาหารรสหวานทุกชนิด เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ผลไม้รสหวานทุกชนิด อาหารจำพวกแป้ง เช่นข้าว ขนมปัง เป็นต้น แนะนำให้รับประทานผลไม้จำพวกส้ม หรือมะละกอ

           ส่วนผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง ถ้ามีไขมันโคเลสเตอรอลสูง ควรงดอาหารจำพวกไข่แดง ข้าวขาหมู ข้าวมันไก่ ปลาหมึกหอยนางรม กุ้ง เป็นต้น

           แต่ถ้ามีไขมันไตรกรีเซอไรด์สูง ควรงดอาหารจำพวกแป้งดังกล่าวมาแล้ว นอกจากนี้ควรรับประทานยาและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งหมั่นไปพบแพทย์เป็นระยะ ๆ จะช่วยให้อาการเหล่านั้นดีขึ้น และยังป้องกันไม่ให้เกิด อัมพาต ซ้ำ

 ผลที่เกิดกับผู้ป่วย อัมพาต

           ผู้ป่วยที่เป็น อัมพาต ในระยะแรกพบว่า จะมีอาการเลวลงได้ถึง 30%  ถ้ามีโรคแทรกซ้อน เช่น น้ำตาลในเลือดสูง ปอดบวม หรือชัก ก็ยิ่งมีอัตราการเสียชีวิตสูงขึ้นไปอีก ในช่วงเดือนแรกหลังเกิดอาการพบว่ามีอัตราตายถึง 25% และใน 1 ปีมีอัตราตายถึง 40% โอกาสที่จะเป็น อัมพาต ซ้ำในระยะ 1 เดือนแรกหลังเกิด อัมพาต พบได้ถึง 3-5% และ 10% ใน 1 ปี

           เมื่อเราติดตามผู้ป่วยเหล่านี้ต่อไปจะพบว่า ผู้ป่วยจะไม่สามารถทำงานได้ถึง 50% ซึ่งในจำนวนนี้ มีถึง 25%  ที่ต้องอยู่ในสถานพยาบาลเป็นเวลานาน นอกจากนี้ 30% ของผู้ป่วยจะเกิดโรคสมองเสื่อมตามมา

            จะเห็นได้ว่า โรคอัมพาต เป็นโรคที่ทำให้เกิดความสูญเสียทั้งในแง่ของตัวผู้ป่วยเอง ญาติพี่น้องที่จะต้องดูและช่วยเหลือ ทำให้มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในครอบครัวและส่วนรวม การป้องกันโรคอัมพาตสามารถทำได้ โดยการคอยตรวจสุขภาพร่างกายสม่ำเสมอ ก็จะช่วยให้เราสามารถมีชีวิตที่มีความสุข ช่วยเหลือตนเองได้โดยไม่ต้องเป็นภาระของครอบครัว

ที่มา kapook

วันอาทิตย์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2555

สารก่อมะเร็งในหมูกระทะ


สารก่อมะเร็งที่พบในอาหารมีอะไรบ้าง

 อาหารที่ปรุงด้วยความร้อนสูง
     สารก่อมะเร็งที่พบในอาหารประเภทปิ้ง ย่าง และรมควันนั้น มีชื่อว่าสารพีเอเอช (Polycyclic Aromatic Hydrocarbon - PAH) ซึ่งเกิดจากการเผาไหม้ของไขมันในเนื้อสัตว์ ที่หยดลงไปโดนถ่านไฟ จนทำให้เกิดเป็นควันที่มีพิษเป็นสารก่อมะเร็งและลอยกลับขึ้นมาจับที่เนื้อ สัตว์บนเตา หากรับประทานเข้าไปในปริมาณมากก็จะเกิดการสะสมในร่างกาย จนเป็น สาเหตุของโรคมะเร็งเต้านม มะเร็งปอด และมะเร็งกระเพาะอาหารได้



     - ทั้งนี้ ควรนำเนื้อสัตว์มาหั่นส่วนที่เป็นไขมันออกเสียก่อน
      - จากนั้น จึงนำไปต้มหรืออบให้สุกพอประมาณ แล้วจึงนำไปปิ้งหรือย่าง
      - โดยนำกระดาษฟอยล์มารองหรือห่อหุ้มเนื้อเอาไว้ เพื่อช่วยลดปริมาณไขมันที่อาจหยดลงไปในเตา พร้อมกับใช้ไฟเพียงอ่อน ๆ หรือเลือกใช้เตาไฟฟ้าไร้ควันซึ่งจะควบคุมระดับความร้อนได้ดีกว่าการใช้เตา ถ่าน
      - จากนั้นก็ควรตัดส่วนที่ไหม้เกรียมออกก่อนนำมารับประทาน ก็จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งได้
     นอกจากนี้ สำนักงานอาหารแห่งประเทศสวีเดนยังทำการวิจัยพบว่า อาหารที่ถูกทอดหรืออบด้วยความร้อนสูง เช่น มันฝรั่งทอด ขนมปังกรอบและบิสกิตนั้นมีสารอะคริลาไมด์ (Acrylamide) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งประกอบอยู่ด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารที่ทอดในน้ำมันที่ถูกใช้ปรุงอาหารเกินสองครั้งนั้นพบ ว่า มีสารก่อมะเร็งที่เกิดจากการแตกตัวของน้ำมันที่เสื่อมสภาพ ซึ่งหากบริโภคติดต่อกันก็อาจเข้าไปสะสมในร่างกายและเพิ่มความเสี่ยงต่อการ เป็นมะเร็งในระบบทางเดินอาหาร ขณะที่ผู้ปรุงอาหารซึ่งสูดดมไอของน้ำมันเข้าไปก็มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรค มะเร็งปอดเพิ่มขึ้นเช่นกัน
อาหารไขมันสูง
      ไขมันที่พบมากในสัตว์เนื้อสีแดง เช่น เนื้อวัว หรือเนื้อหมูนั้นเป็นไขมันอิ่มตัว ที่ยังพบมากในไข่แดง นม และผลิตภัณฑ์จากนม เช่น เนย ชีส และโยเกิร์ต เป็นต้น รวมถึงน้ำมันที่ได้จากพืชบางชนิด เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว น้ำมันแปรรูป เช่น มาการีน เนยขาว ซึ่งนอกจากจะทำให้ร่างกายผลิตคลอเรสเตอรอลมากขึ้น จนเป็นสาเหตุของภาวะหลอดเลือดตีบแล้ว ไขมันประเภทนี้ยังมีส่วนเชื่อมโยงต่อการก่อตัวของมะเร็งลำไส้ มะเร็งเต้านม และมะเร็งต่อมลูกหมากอีกด้วย โดยเฉพาะเมื่ออาหารประเภทนี้ถูกนำไปปรุงในอุณหภูมิที่ร้อนจัดก็จะก่อให้เกิด สารก่อมะเร็งที่มีชื่อว่าเอชซีเอ (Heterocyclic Amine - HCA)
อาหารแปรรูป และอาหารปรุงแต่ง

      โดยทั่วไปแล้ว ผลิตภัณฑ์ที่แปรรูปจากเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อเค็ม กุนเชียง ไส้กรอก เบคอน มักจะมี "ดินประสิว" ซึ่งมีชื่อทางเคมีว่า "โปตัสเซียมไนเตรต" เป็นส่วนประกอบในอาหาร เพราะสารดังกล่าวนี้จะช่วยคงสภาพให้เนื้อสัตว์มีสีแดงดูน่ารับประทานได้ นานกว่าปกติ และมีคุณสมบัติเป็นสารกันบูดเช่นเดียวกับสารกันบูดประเภทไนไตรต์ และโซเดียมไนเตรต ซึ่งจะช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียที่มักเกิดในอาหารที่ได้ รับการบรรจุอยู่ในภาชนะที่ปิดสนิท เช่น อาหารกระป๋อง

     แม้จะมีประโยชน์ในการช่วยถนอมอาหาร แต่สารเหล่านี้ก็จัดเป็นสารก่อมะเร็ง ซึ่งหากร่างกายได้รับอาหารที่มีสารกันบูดเหล่านี้ติดต่อกันเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในกรณีอาหารที่ได้รับการใส่สารกันบูดในปริมาณเกินกำหนดด้วยนั้น ก็จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งกระเพาะอาหาร หลอดอาหาร ลำไส้ใหญ่ และมะเร็งเม็ดเลือดขาวมากขึ้นตามไปด้วย

อาหารปนเปื้อนสารเคมีที่เป็นอันตราย
     ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ได้รับการแต่งสี กลิ่น รส ที่อาจเป็นอันตราย เช่น การใช้สีที่ไม่ใช่สีผสมอาหาร อย่างสีย้อมผ้า หรือแม้กระทั่งการใช้สีผสมอาหารในปริมาณที่มากเกินไป รวมถึงอาหารที่อาจปนเปื้อนสารฆ่าแมลงและสารเคมีแปลกปลอมอื่น ๆ ซึ่งจะสังเกตได้จากลักษณะของอาหารที่ผิดจากธรรมชาติไปมาก เช่น มีสีฉูดฉาดจัดจ้านผิดปกติ หรือพืชผักผลไม้ที่ไม่มีร่องรอยการกัดกินจากแมลงเลย เป็นต้น
อาหารที่มีเกลือโซเดียมสูง

      แม้ว่าสารโซเดียมคลอไรด์ หรือที่เรารู้จักกันดีในรูปแบบของเกลือที่นิยมนำมาประกอบอาหารนั้นจะให้ ไอโอดีน ซึ่งช่วยป้องกันโรคคอพอก ได้ก็ตาม แต่การบริโภคอาหารที่มีเกลือเป็นส่วนประกอบในปริมาณสูงเกินไป ซึ่งรวมถึงอาหารหมักดองด้วยเกลือ และอาหารที่ใส่ผงชูรส (โมโนโซเดียมกลูตาเมต) ก็อาจเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งในกระเพาะอาหาร และหลอดอาหารได้ เพราะเมื่อร่างกายได้รับโซเดียมมากเกินไป ก็จะส่งผลให้ปริมาณเกลือโพแทสเซียมลดลง ซึ่งจะทำให้ ภูมิต้านทานในร่างกายลดลงตามไปด้วย

อาหารที่มีเชื้อรา

      เชื้อราที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหารชนิดที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมากที่สุดคือ เชื้อราที่ผลิตสารอะฟลาท็อกซิน (Aflatoxin) ซึ่งเจริญเติบโตได้ดีในอาหารที่เป็นผลผลิตทางการเกษตร เช่น เมล็ดธัญพืช อย่างถั่ว หรือข้าวโพด รวมถึงพริกแห้ง หอม กระเทียม และอาหารจำพวกนมและขนมปัง ที่ถูกเก็บไว้นานจนเกินไป โดยเฉพาะในที่ที่อากาศร้อนและมีความชื้นสูง หากรับประทานเข้าไปจะก่อให้เกิดการสะสมของสารอะฟลาท็อกซินที่ตับ และอาจพัฒนาเป็นมะเร็งตับในที่สุด
เครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์

      สารเอทานอล ในเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น เมื่อถูกย่อยสลายในร่างกายแล้ว จะกลายเป็นสารที่มีชื่อว่า อะเซทแอลดีไฮด์ ซึ่งมีผลทำให้เซลล์ในร่างกายอ่อนแอลง สำหรับผู้สูบบุหรี่เป็นประจำก็เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง เช่น มะเร็งช่องปาก มะเร็งตับ และมะเร็งกระเพาะอาหารมากขึ้นตามไปด้วย

      นอกจากหลีกเลี่ยงอาหารที่อาจก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งแล้ว ก็ควรที่จะดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจให้เกิดความสมดุลในแบบองค์รวม ควบคู่กันไปด้วยการเลือกรับประทานอาหารที่มี
ประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ โดยเฉพาะผักผลไม้ที่มีวิตามินเอและวิตามินอีสูง หมั่นออกกำลังกายและพักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงความเครียด ใช้ผลิตภัณฑ์ป้องกันแสงแดดเพื่อป้องกันมะเร็งผิวหนัง และให้ความสำคัญกับตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ เพียงเท่านี้คำว่า "มะเร็ง" ก็จะห่างไกลจากชีวิตคุณแน่นอน

วันเสาร์ที่ 1 ธันวาคม พ.ศ. 2555

วิธีการรักษาโรคซึมเศร้า


วิธีการรักษาโรคซึมเศร้า
โรคซึมเศร้า (Major depressive disorder)
โดย : ผศ.นพ.สเปญ อุ่นอนงค์
โรคซึมเศร้า เป็นโรคทางจิตเวชที่พบได้บ่อยที่สุด คนที่เป็นโรคซึมเศร้าไม่ได้เป็นบ้าและไม่ได้เป็นคนไม่ดี แต่เป็นคนที่มีอาการป่วยทางอารมณ์อย่างหนึ่งซึ่งต้องการการรักษา
ภาวะซึมเศร้า (depressive episode)
เมื่อผู้ที่ป่วยอยู่ใน ภาวะซึมเศร้า ผู้ป่วยจะมีอารมณ์เศร้า หดหู่ ไม่แจ่มใส ไม่อยากสนใจสิ่งต่างๆ แม้กระทั่งสิ่งที่ตนเคยชื่นชอบ เวลามีอะไรดีๆ เกิดขึ้นก็ไม่รู้สึกเป็นสุข กินอะไรก็ไม่อร่อยแม้แต่ของที่เคยชอบ เบื่ออาหาร กินได้น้อยลง ผ่ายผอมลง หมดเรี่ยวหมดแรง คิดแต่เรื่องร้ายๆ บางคนรู้สึกเบื่อชีวิตมากจนคิดอยากตาย บางคนพยายามฆ่าตัวตาย ในคนที่มีอาการซึมเศร้ามากๆ บางรายอาจมีหูแว่วได้ยินเสียงคนที่ตายไปแล้วมาชวนไปอยู่ด้วย บางรายเกิดความหลงเชื่อผิดคิดว่าตนเองตายไปแล้ว หรือคิดว่าตนเองทำบาปทำกรรมไว้มากต้องฆ่าตัวตายชดใช้กรรม ผู้ป่วยบางรายมีอาการทางร่างกายเด่นกว่าอาการทางอารมณ์ เช่น ปวดหัว ปวดท้อง คลื่นไส้ อ่อนเพลีย วิงเวียน ใจสั่น หายใจไม่เต็มอิ่ม ผู้ที่กำลังอยู่ในภาวะซึมเศร้า จะมีอาการต่างๆ เกือบตลอดเวลาแทบทุกวันและเป็นอยู่เป็นสัปดาห์ๆ ไม่ใช่เพียงชั่วครู่ชั่วยาม
โรคซึมเศร้า (Major depressive disorder)
โรคซึมเศร้า เป็นโรคที่ทำให้เกิดการป่วยทางอารมณ์ คือจะเกิดภาวะซึมเศร้าขึ้น อาการป่วยนี้สามารถเกิดขึ้นหลังจากมีเรื่องเครียด หรืออาจเป็นได้ทั้งๆที่ไม่มีเรื่องเครียด บางรายอาจมีเรื่องเครียดเพียงเล็กน้อย ผู้ป่วยจะมีภาวะซึมเศร้า และเปลี่ยนไปจากเดิมชัดเจนและมีโอกาสฆ่าตัวตายได้ถ้าเป็นมากๆ อย่างไรก็ดีทั้งตัวผู้ป่วยเอง และญาติมักสังเกตุเห็นว่าผู้ป่วยมีความผิดปกติขึ้นแล้ว ในบางรายที่พอมีความรู้มักมารับการรักษาได้ค่อนข้างเร็ว
โรคซึมเศร้า สลับกับอารมณ์ดีผิดปกติ (Bipolar disorder)
มีโรคทางอารมณ์อีกชนิดหนึ่งคือ โรคไบโพล่าร์ คนที่เป็นโรคชนิดนี้เมื่อป่วยขึ้นมาจะมีอาการได้ 2 แบบ คือ แบบซึมเศร้า และแบบตรงข้ามกับซึมเศร้า เวลาที่มีอาการแบบซึมเศร้า (depressive episode) ผู้ป่วยจะมีอาการเหมือนโรคซึมเศร้าทั่วๆ ไป แต่เมื่อมีอาการตรงข้ามกับซึมเศร้า (manic episode) ผู้ป่วยจะมีอารมณ์ดีผิดปกติ มีความสุขมาก พูดมาก หัวเราะเก่ง ใจดี ใช้เงินเปลือง มีโครงการใหญ่ๆโตๆ ผุดขึ้นมาในหัวเต็มไปหมด บางรายก้าวร้าวเที่ยวไปก้าวก่ายคนอื่น บางรายมีความต้องการทางเพศมาก บางรายมีอาการหลงเชื่อผิดด้วย เช่น คิดว่าตนเป็นซุปเปอร์แมนมาพิทักษ์ชาวโลก โรคซึมเศร้า สลับกับอารมณ์ดีผิดปกตินี้ต้องการการรักษาด้วยาที่ต่างไปจาก โรคซึม เศร้า ธรรมดาดังนั้นเมื่อพบผู้ป่วยที่มีภาวะซึมเศร้า แพทย์มักจะถามว่า เคยมีช่วงที่อารมณ์ดีผิปกติหรือไม่เพื่อช่วยแยกโรคให้ถูกต้อง
โรคซึมเศร้า เกิดจากอะไร
ในปัจจุบันเรายังไม่สามารถบอกสาเหตุของ โรคซึมเศร้า ได้ทั้งหมดแต่เราก็พอจะทราบว่า มีการเปลี่ยนแปลงของสารสื่อนำประสาทในสมองของผู้ที่กำลังอยู่ในภาวะซึมเศร้า และเราสามารถแก้ไขความผิดปกตินี้ได้ด้วยยา และเราก็ยังทราบอีกว่า โรคซึมเศร้า สามารถถูกถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ได้ แต่ก็ยังมีสิ่งที่เราไม่ทราบอีกมาก ในอนาคตถ้าเรามีความรู้มากกว่านี้เราคงสามารถให้การรักษาได้ดีกว่าในปัจจุบัน
การรักษา โรคซึมเศร้า
การรักษา โรคซึมเศร้า ด้วยยา
โรคซึมเศร้า สามารถรักษาได้ด้วยยาแก้ โรคซึมเศร้า ( antidepressant drugs) ยาแก้ โรคซึมเศร้า มีอยู่หลายชนิด มีทั้งชนิดที่ทำให้ง่วงและที่ไม่ง่วง ยาแก้ โรคซึมเศร้า จะไม่ทำให้เกิดการเสพติด และผู้ป่วยสามารถหยุดยาได้เมื่อหมดความจำเป็น ยาแก้ โรคซึมเศร้า ไม่ได้ออกฤทธิ์เพียงแค่ลดความกังวล แต่มันจะออกฤทธิ์ทำให้อารมณ์หายซึมเศร้าจริงๆ ยาแก้ โรคซึมเศร้า จะออกฤทธิ์ค่อนข้างช้า โดยต้องรับประทานยาต่อเนื่องนานอย่างน้อย 2-3 สัปดาห์ จึงเริ่มเห็นว่าอารมณ์แจ่มใสขึ้น และมักต้องใช้เวลา 4-6 สัปดาห์ยาจึงจะออกฤทธิ์เต็มที่ เมื่อหายแล้วผู้ป่วยจะกลับเป็นคนเดิม และแพทย์จะให้ยาต่ออีกอย่างน้อย 6 เดือน แต่ในรายที่เป็นบ่อยแพทย์อาจพิจารณาให้ยานานกว่านั้น
การรักษา โรคซึมเศร้า โดยไม่ใช้ยา
เปลี่ยนความคิดอ่าน เปลี่ยนความคิดพิชิตความเศร้า
คนที่กำลังเศร้าจะมองโลกในแง่ร้าย และคนที่มองโลกในแง่ร้ายก็จะซึมเศร้าได้ง่าย เป็นวัฏจักรที่ทำให้ภาวะซึมเศร้าเป็นอยู่นาน ดังนั้นเมื่อเกิดอารณ์ซึมเศร้าขึ้นมา ให้ผู้ป่วยลองหยุดเศร้าสักประเดี๋ยวแล้วมองย้อนกลับไปว่าตะกี้เกิดอะไรขึ้น และเมื่อสิ่งนั้นเกิดขึ้นมันมีความคิดอะไรแวบขึ้นมาในสมอง แล้วลองพิจารณาว่าความคิดอันนั้นมันถูกต้องแค่ไหน ถ้าคิดได้ว่ามันไม่ค่อยสมเหตุผลเท่าไรอารมณ์จะดีขึ้นทันที อย่างน้อยก็จนกว่าจะเผลอไปคิดอะไรในแง่ร้ายอีก แต่ถ้าคิดแล้วรู้สึกว่ามันก็สมเหตุผลดีก็ค่อคิดต่อว่า แล้วจะทำอย่างไรกับเรื่องนั้นดี
เปลี่ยนพฤติกรรม
ผู้ที่อยู่ในภาวะซึมเศร้ามักไม่อยากทำอะไร หมดเรี่ยวแรง นั่งๆนอนๆ แต่ในสมองจะคิดไปเรื่อยและมักคิดแต่เรื่องร้ายๆ ยิ่งคิดก็ยิ่งลุกไม่ขึ้น ให้แก้โดยการหาอะไรทำ หาอะไรที่ได้ลงไม้ลงมือทำ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นงานที่สำคัญขอให้ได้ลงมือทำเป็นใช้ได้ เช่น จัดตู้หรือลิ้นชักที่รกๆ เอาของที่แตกที่หักมาลองซ่อมดู เช็ดรถ รดน้ำต้นไม้ แย่งงานคนใช้ทำฯลฯ เพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ ความคิดฟุ้งซ่านจะลดลงและอารมณ์จะดีขึ้น
การรักษา โรคซึมเศร้า ด้วยไฟฟ้า (ECT, electroconvulsive therapy)
ในรายที่เป็นมากหรือเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายมากๆ แพทย์จะให้การรักษาด้วยไฟฟ้า เครื่องจะปล่อยกระแสไฟฟ้าผ่านสมองทำให้ผู้ป่วยเกิดการชัก (convulsion) ภาวะซึมเศร้าจะหายได้อย่างรวดเร็ว (ในเวลาประมาณ 1 สัปดาห์) การรักษาด้วยไฟฟ้าในปัจจุบันมีความปลอดภัยสูงมาก แต่เนื่องจากสังคมได้รับข้อมูล ที่ผิดพลาดจากสื่อต่างๆ ทำให้การรักษาแบบนี้ไม่ค่อยเป็นที่ยอมรับกัน แพทย์จึงจะใช้การรักษาแบบนี้ในรายที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น
บทบาทของญาติ
ญาติเป็นคนสำคัญในทีมรักษา การคอยให้กำลังใจแก่ผู้ป่วยว่าโรคซึมเศร้าเป็นโรคที่ รักษาได้ จะช่วยได้มาก เพราะผู้ป่วยมักมองโลกในแง่ร้าย และมักจะลืมประเด็นนี้อยู่เรื่อยๆ นอกจากนี้ยังต้องให้กำลังใจให้ผู้ป่วยรับประทานยาให้สม่ำเสมอ เพราะความที่ยาออกฤทธิ์ช้าทำให้ผู้ป่วยอาจเข้าใจผิดว่ายานี้ไม่ได้ผล ในรายที่เป็นมากและมีความคิดจะฆ่าตัวตาย ญาติควรเก็บสิ่งที่จะใช้ในการฆ่าตัวตายได้ เช่น เชือก มีด กรรไกร ยาฆ่าแมลง อาวุธต่างๆ ให้มิดชิดและคอยดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด ในรายที่มีความมุ่งมั่นที่จะฆ่าตัวตายมากๆ ควรให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในในโรงพยาบาลที่มีการดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด

การดูเเลรักษาฟันปลอมให้อย่างถูกต้อง


การดูเเลรักษาฟันปลอมให้อย่างถูกต้อง
ฟันปลอมนี่ถ้าให้พูดก็พูดเถอะครับ อย่างเเพงอะครับถ้าท่านทำดีๆนะครับ
ดังนั้นควรดูเเลมันให้ดีีกันดีกว่านะครับ
4 คำถามกับวิธีดูแลฟันปลอม (ชีวจิต)
“คุณตาของฉันเพิ่งใส่ฟันปลอมเมื่อไม่นานนี้ เขามีคำถามมากมายที่อยากรู้เกี่ยวกับฟันปลอม” รวมทั้งใคร ๆ อีกหลายคนที่เคยมีประสบการณ์ “เหงือกจ๋าฟันลาก่อน” จนกระทั่งต้องหันมาพึ่งฟันปลอม เป็นเพื่อนสนิทที่คุณพกพาติดตัวไปไหนมาไหนด้วยตลอดเวลา แต่จะดูแลรักษาเพื่อนสนิทของคุณกันอย่างไรนั้น เรามี 4 ข้อสงสัย และคำตอบเกี่ยวกับการดูแลฟันปลอมอย่างถูกวิธีมาฝากกันค่ะ
1. ควรใส่ฟันปลอมตลอดเวลาหรือไม่
คำตอบ ไม่ควรใส่ตลอดเวลาทั้งวันทั้งคืน เพราะจะมีผลต่อเนื้อเยื่อที่อยู่ใต้ฟันปลอม บางครั้งการใส่นาน ๆ ระยะหนึ่งอาจจะทำให้เนื้อเยื่อข้างใต้บวมแดง และเกิดการติดเชื้อขึ้นได้ ดังนั้น ควรถอดฟันปลอมในเวลากลางคืนทุกครั้งก่อนนอน
2. เวลาถอดฟันปลอม จำเป็นหรือไม่ ที่ต้องแช่ฟันปลอมไว้ในน้ำ
คำตอบ หลักการมีอยู่ว่า ฟันปลอมต้องเก็บให้ชุ่มชื้นเสมอ เพื่อรักษารูปทรงให้คงที่ จึงควรแช่ไว้ในน้ำสะอาดหรือน้ำยาทำความสะอาดฟันปลอม จะช่วยการหดตัวของวัสดุที่ใช้ทำฐานฟันปลอม ซึ่งจะมีผลให้ใส่ไม่พอดีกับปากได้
3. วิธีทำความสะอาดฟันปลอม ทำอย่างไร
คำตอบ ถ้าเป็นไปได้ ควรถอดฟันปลอมทุกครั้งหลังอาหาร เพื่อล้างคราบอาหารที่ติดอยู่ การทำความสะอาดนั้นไม่ใช่ทำเฉพาะตัวฟัน แต่ต้องทำที่ฐานฟันปลอมที่ติดอยู่กับเนื้อเยื่อในปากด้วย และควรใช้แปรงอ่อน ๆ น้ำสะอาดกับสบู่ ห้ามใช้ผงขัดและแปรงที่แข็งเกินไป เพราะจะทำให้ฟันปลอมสึกเป็นรอยได้ ควรหลีกเลี่ยงการใช้น้ำร้อน ทำความสะอาดฟันปลอม เพราะจะทำให้ฟันปลอมบิดงอได้ การทำความสะอาดด้วยวิธีที่ถูกต้องนี้อย่างน้อยวันละ 1 ครั้งอย่างสม่ำเสมอ จะทำให้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้สาร หรือน้ำยาทำความสะอาดฟันปลอมมาช่วย
4. ทำไมจึงต้องนำฟันปลอมไปเช็คเป็นระยะ ๆ
คำตอบ เพราะถ้าเกิดฟันปลอมชำรุด หรือใส่ไม่พอดี หรือใส่ฟันปลอมแล้วมีปัญหา เช่น เจ็บ จะได้แก้ไขได้ทันท่วงที การเช็คเป็นระยะ ๆ ทำให้คุณหมอช่วยปรับแต่งฟันปลอมของคุณให้ดีได้ ดังนั้น หลังการใส่ฟันปลอมจึงควรกลับไปตรวจและแก้ไขให้เรียบร้อยภายใน 2 สัปดาห์ ถ้าใช้ได้ดี หมอจะนัดมาตรวจอีกเมื่อครบ 6 เดือน และ 1 ปี บางกรณีอาจนัดมาปรับแต่งบ่อยกว่านี้ได้
หากดูแลเพื่อนสนิทของคุณอย่างถูกวิธีแล้ว คุณจะได้มิตรแท้ที่อยู่กับคุณไปอีกยาวนานอย่างแน่นอน
ที่มา 

วิธีการดูเเลหลอดเลือดในสมอง


วิธีการดูเเลหลอดเลือดในสมอง
ด้วยไลฟ์สไตล์ยุ่งเหยิงของคนเมืองในปัจจุบัน ดูเหมือนว่าโรคหลอดเลือดสมองจะเขยิบเข้าใกล้ตัวเรามากขึ้นทุกทีๆ โรคดังกล่าวสามารถทำให้เกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต (แขนและขาอ่อนแรงครึ่งซีก) มีปัญหาทางด้านความคิด สูญเสียความจำ มีปัญหาทางด้านการพูด และอารมณ์แปรปรวน…น่ากลัวไหมล่ะ
การเกิดภาวะสมองขาดเลือด
ภาวะสมองขาดเลือดที่มีเนื้อสมองตาย มักเกิดจากการขาดเลือดและออกซิเจนไปเลี้ยง โดยทั่วไปเกิดจากการอุดตันของหลอดเลือดแดงในสมองหรือหลอดเลือดแดงคาโรติด (Carotid) ซึ่งเป็นหลอดเลือดแดงบริเวณคอที่นำเลือดไปเลี้ยงสมอง ภาวะสมองขาดเลือดมักเกิดจากหลอดเลือดสมองตีบ (Ischemic Stroke) หรือภาวะหลอดเลือดสมองแตก (Hemorrhagic Stroke) ซึ่งเกิดจากการที่ผนังหลอดเลือดแตกทำให้มีเลือดคั่งในเนื้อสมอง ประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ป่วยมักมีอาการของภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราวนำมาก่อน ลักษณะดังกล่าวมักเป็นเวลาสั้นๆ เกิดขึ้นเมื่อเลือดและออกซิเจนไหลเวียนลดลงชั่วคราว ภาวะสมองขาดเลือดชั่วคราวหรือเรียกว่า ‘มินิ-สโตรก’ มีอาการเกิดขึ้นตั้งแต่ 2-3 นาทีถึงเป็นชั่วโมง เป็นสัญญาณเตือนบอกถึงความเสี่ยงในการเกิดภาวะสมองขาดเลือดเพิ่มขึ้นในอนาคต
ดูแลตัวเองอย่างไร ไม่ให้เกิดโรคหลอดเลือดสมอง?
1. รักษาความดันโลหิตให้ดีและสม่ำเสมอ คนทั่วไปควรต่ำกว่า 140/90 มม.ปรอท ใน ผู้ป่วยเบาหวานหรือไตวายเรื้อรัง ให้ต่ำกว่า 130/80 มม.ปรอท
2. งดดื่มแอลกอฮอล์และงดสูบบุหรี่ การหยุดสูบบุหรี่ 1 ปี สามารถลดอัตราความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองลงกว่าครึ่ง
3. หากเป็นโรคเบาหวาน ควรควบคุมระดับน้ำตาลให้ใกล้เคียงปกติ ระดับน้ำตาลหลังงดอาหารและน้ำอย่างน้อย 8 ชม. ควรต่ำกว่า 140 มก./เดซิลิตร และน้ำตาลสะสมควรต่ำกว่า ร้อยละ 7
4. หากมีภาวะไขมันในเลือดสูง ต้องควบคุมให้ระดับไขมันที่ไม่ดีให้ต่ำลงถึงเป้าหมาย ซึ่งจะแตกต่างกันไปในแต่ละราย และระดับไขมันที่ดี ผู้ชายควรสูงกว่า 40 มก./เดซิลิตร และผู้หญิงควรสูงกว่า 50 มก./เดซิลิตร
5. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักตัว
6. หากเป็นโรคหัวใจหรือลิ้นหัวใจผิดปกติ โดยเฉพาะในรายที่มีการเต้นของหัวใจผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์ ซึ่งอาจต้องใช้ยาป้องกันไม่ให้เกิดลิ่มเลือดในหัวใจ
7. ให้แพทย์ตรวจดูหลอดเลือดที่คอเป็นระยะๆ โดยเฉพาะในรายที่ทราบว่าเริ่มมีการตีบแล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดลิ่มเลือดหลุดไปอุดหลอดเลือดสมอง
8. รับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ

โดยลดการบริโภคอาหารที่มีไขมันอิ่มตัว คอเลสเตอรอล หรือไตรกลีเซอไรด์สูง เช่น เนื้อสัตว์ติดมัน ไข่แดง เนย ครีม เครื่องในสัตว์ น้ำมันจากสัตว์ กะทิ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม น้ำหวาน ขนมหวาน เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
หลีกเลี่ยงอาหารทอด อาหารรสหวานจัด รวมทั้งทุเรียน ลำไย มะม่วงสุก ลองกอง กล้วยสุก
ควรรับประทานอาหารที่มีไขมันต่ำ เช่น นมพร่องมันเนย
ผักผลไม้ที่ไม่มีรสหวานมาก อาทิ ส้ม ฝรั่ง แคนตาลูป แอปเปิ้ล มะละกอสุก กินไข่ขาว เนื้อปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน น้ำมันพืช รับประทานอาหารที่มีกากใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ
อาหารประเภทธัญพืช ซึ่งช่วยลดการดูดซึมคอเลสเตอรอลในลำไส้เล็ก รวมทั้งจับกับน้ำดีและขับออกไปกับอุจจาระ ทำให้ร่างกายต้องนำคอเลสเตอรอลมาสร้างเป็นน้ำดีเพิ่มขึ้น ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดจึงลดลง ทั้งยังป้องกันภาวะท้องผูกได้ดีอีกด้วย นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มเกินไป หรือผ่านกระบวนการปรุงด้วยเกลือ เช่น อาหารหมักดอง ตากแห้ง อาหารกระป๋อง ฯลฯ
ที่มา http://women.thaiza.com

สรรพคุณ และ ประโยชน์ของผักโขม


สรรพคุณ และ ประโยชน์ของผักโขม
ผักโขม ใครว่าขมไม่จริ๊ง…ไม่จริง…จริง ๆ ก็ขมแบบผักธรรมดาทั่ว ๆ ไปนั้นแหละอย่าเข้าใจผิดกันนะจ๊ะ แต่ต้องขอบอกค่ะว่า สรรพคุณของผักโขม และ ประโยชน์ของผักโขม นั้นมีมาก ๆ ไม่แพ้พืชผักสมุนไพรไหน ๆ เลยค่ะ และวันนี้เราก็นำความรู้ของ สรรพคุณของผักโขม และ ประโยชน์ของผักโขม มาบอกกล่าวให้คุณ ๆ ได้ฟังกันด้วยค่ะ ต่อไปจะได้หันมาทาน ผักโขม กันเยอะ ๆ นะค่ะ นั้นเรามาดูสรรพคุณของผักโขมและประโยชน์ของผักโขมกันเลยดีกว่านะค่ะ
สรรพคุณ / ประโยชน์ของผักโขม
คุณค่าทางอาหารของผักโขม
- ผักโขมเป็นผักใบเขียวที่อุดมด้วยวิตามินเอ กรดโฟเลต แคโรทีน วิตามินซี โพแทสเซียม ธาตุเหล็ก แมกนีเซียม แคลเซียม สังกะสี โปรตีน และไฟเบอร์
- ผักใบเขียวอย่างผักโขมเปี่ยมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยป้องกัน โรคมะเร็งโดยเฉพาะมะเร็งเต้านมและมะเร็งปอด
- ผักโขมช่วยขจัดสารพิษออกจากร่างกาย ช่วยชะลอความแก่ วิตามินเอช่วยบำรุงรักษาสายตา บำรุงกระดูกและฟัน วิตามินซีช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันแก่ร่างกายให้ปลอดภัยจากโรค ช่วยเสริมสร้างคอลลาเจนเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่ผิว ผักโขมยงมีธาตุเหล็กสูง และช่วยบำรุงเลือดอีกด้วย
ประโยชน์ของผักโขม
- ผักโขมเป็นผักสุขภาพชั้นยอดในใบผักโขมเป็นแหล่งวิตามินเอ วิตามินซี กรดแอมิโน และสารอาหารอื่น ๆ เช่น ธาตุเหล็ก แคลเซียม และฟอสฟอรัสสูง
- นอกจากนั้นในผักโขมยังมีเบต้าแคโรทีนสูงมีสารซาโปนินที่ช่วยลดคอลเลสเทอรอลในเลือดอีกด้วย ผักโขมยังมีเส้นใยอาหารมากจึงช่วยระบบขับถ่ายและลดความเสี่ยงการเป็นมะเร็งกระเพาะอาหารได้
นอกจากนี้จากการวิจัยยังพบว่า เมล็ดผักโขมที่ชาวตะวันตกชอบรับประทานนั้น มีคุณค่าโปรตีนและแคลเซี่ยมที่สูงกว่าน้ำนม อีกทั้งให้กรดแอมิโนชื่อไลซีนมากกว่าที่ได้จากข้าว หรือข้าวสาลีอีก
สรรพคุณของผักโขม
- ผักโขมใบสดมีสรรพคุณรักษาแผลพุพอง ต้นมีสรรพคุณแก้อาการแน่นหน้าอกและไอหอบ และรากช่วยดับพิษร้อนถอนพิษไข้ขับถ่ายปัสสาวะ
- ผักโขม หั่นรากปรุงเป็นยาถอนพิษร้อน แก้คันถอนพิษไข้ แก้เสมหะขับปัสสาวะมักจะใช้เป็นยาสมุนไพร่วมกับผักโขมหิน
- ผักโขมหนาม รากผักโขมหนามเป็นยา แก้ตกเลือด แก้ฝี แก้ขี้กลาก เป็นยาขับน้ำนม แก้แน่นท้อง แก้พิษ แก้ช้ำใน แก้ไข้ระงับความร้อน แก้เด็กลิ้นเป็นฝ้าละอองเบื่ออาหาร
ขอบคุณบทความจาก http://www.n3k.in.th

ทำความเข้าใจโรคลิ้นหัวใจรั่ว


ทำความเข้าใจโรคลิ้นหัวใจรั่ว
ลิ้นหัวใจรั่ว อย่ามัวเฉยชา (กรุงเทพธุรกิจ)
โดย : กานต์ดา บุญเถื่อน
โรคหัวใจ อื่นเราเฝ้าระวังดูแลสุขภาพก็ลดเสี่ยงได้ ต่างจากโรค ลิ้นหัวใจรั่ว ที่สาเหตุจากความผิดปกติของเนื้อเยื่อลิ้นหัวใจมาแต่กำเนิด

เรียนกันมาตั้งแต่ประถม รู้กันดีว่าหัวใจมีสี่ห้อง แต่ละห้องจะมีลิ้นหัวใจคล้ายกลีบดอกทิวลิปคอยหุบคอยบาน ทำหน้าที่เหมือนวาล์วน้ำอัตโนมัติ เปิดปิดให้เลือดไหลผ่านจากห้องหนึ่งไปอีกห้องหนึ่ง ส่งไปให้ปอดฟอกออกซิเจนกลับมาไหลเวียนสู่ระบบโลหิตอีกครั้ง
ลิ้นหัวใจ บางคนโชคร้าย ใช้งานไปนานวันเกิดอาการลักปิดลักเปิดทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ รบกวนชีวิตประจำวันทำอะไรนิดหน่อยก็เหนื่อย อาบน้ำยังเหนื่อยเลย ทางที่ดีควรไปให้แพทย์ตรวจอย่างละเอียด เล่าอาการให้หมดเปลือก พบเร็วรักษาเร็วไม่ต้องเสียเงินทองมากมาย

โรคหัวใจอื่นเราเฝ้าระวังดูแลสุขภาพ ออกกำลังกาย ไม่บริโภคอาหารเสี่ยงได้ ต่างจากโรค ลิ้นหัวใจรั่ว ที่มักมีสาเหตุจากความผิดปกติของเนื้อเยื่อลิ้นหัวใจมาแต่กำเนิด ส่งผลให้ลิ้นหัวใจเสื่อมไวกว่าคนทั่วไป โรคลิ้นหัวใจรั่ว ที่พบบ่อยในคนไทยคือ ลิ้นหัวใจที่กั้นระหว่างห้องบนและห้องล่างด้านซ้าย
” โรค ลิ้นหัวใจรั่ว ที่เกิดจากความผิดปกติแต่กำเนิด มักไม่แสดงอาการในวัยเด็ก แต่จะเริ่มเหนื่อยง่าย ใจสั่น เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น โดยมีผลให้การออกกำลังกายได้น้อย หรือบางคนเดินขึ้นบันได 1-2 ชั้น ก็เหนื่อย นอนราบไม่ได้หายใจไม่ออก เป็นต้น” นพ.วิสุทธิ์ วิเวกาภิรัต ผู้อำนวยการอายุรศาสตร์โรคหัวใจ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อธิบาย

การดำเนินอาการของโรค ลิ้นหัวใจรั่ว ไม่รุนแรง แต่เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป อาจยาวนานจนกระทั่ง 40 ปีผ่านไป จึงเริ่มแสดงอาการรุนแรง จากการที่ลิ้นหัวใจเสื่อมมากขึ้น จนทำให้ร่างกายเหนื่อย อ่อนเพลียง่ายกับทุกอิริยาบถการเคลื่อนไหว บางรายที่เป็นมากอาจเสียชีวิตเนื่องจากการทำงานของหัวใจล้มเหลว
ปัจจัยที่ทำให้ลิ้นหัวใจเสื่อมไวที่อายุประมาณ 40-50 คือ การติดเชื้อที่ผิวของเนื้อเยื่อจากกระแสโลหิตนั่นเอง เช่น จากการทำฟัน ในขณะที่ช่องปากมีแผลอักเสบอยู่ ซึ่งภูมิต้านทานร่างกายที่ต่ำ จะทำให้เกิดการติดเชื้อเข้าสู่แผลและกระแสเลือด และทำให้ลิ้นหัวใจติดเชื้อได้ด้วย
ผู้อำนวยการอายุรศาสตร์โรคหัวใจ บอกว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยยังไม่เคยมีการทำสถิติว่า มีคนไข้ที่ป่วยเป็น โรคลิ้นหัวใจรั่ว มากน้อยแค่ไหน แต่จากสถิติการวิจัยของต่างประเทศพบว่า 5-10% ของประชากร สามารถเกิดโรคลิ้นหัวใจผิดปกติได้ เพราะเนื้อเยื่อของลิ้นหัวใจมีความผิดปกติแต่กำเนิดเป็นหลัก หรือเนื้อเยื่อลิ้นหัวใจเสื่อมเร็วกว่าปกติ โดยลักษณะความเสื่อมจะแสดงในรูปของสภาพหย่อน ยาว หรือลิ้นหัวใจหนากว่าคนปกติ
มาตรฐานการวินิจฉัยโรค ลิ้นหัวใจรั่ว คือ การใช้คลื่นเสียงสะท้อน หรือเครื่องอัลตราซาวนด์ ใช้เวลาตรวจเพียง 30 นาทีก็สามารถรู้ผลการวินิจฉัยได้แล้วว่า หัวใจมีความผิดปกติอย่างที่สงสัยหรือไม่ และสภาพการทำงานของหัวใจปัจจุบันเป็นอย่างไร ด้วยค่าบริการตรวจประมาณ 2,500-4,000 บาทต่อคน
การวินิจฉัย แพทย์จะดูการทำงานของหัวใจทุกอย่าง เช่น ทิศทางการไหลเวียนของเลือด จังหวะการสูบฉีดเลือดของหัวใจเมื่อมีการหายใจเข้าออก การปิดเปิดของลิ้นหัวใจเมื่อเลือดสูบฉีดว่ามีการรั่ว หย่อนยาน หรือปูดขึ้นหรือไม่ เพื่อแนะนำวิธีการรักษาที่เหมาะสมต่อไป
การรักษาในช่วงที่ ลิ้นหัวใจรั่ว ไม่รุนแรงมาก แพทย์จะแนะนำวิธีการป้องกันการติดเชื้อโรคเข้าสู่กระแสเลือด เช่น การหลีกเลี่ยงทำฟันเมื่อมีแผลอักเสบในช่องปาก หรือควรบอกแพทย์ก่อนที่จะรับการรักษาหากจำเป็นจริง เป็นต้น
สำหรับผู้ป่วยรายที่ ลิ้นหัวใจรั่ว มาก จนกระทั่งกล้ามเนื้อที่พยุงการปิดเปิดลิ้นหัวใจเกิดการหย่อนยาน ปูด หรือหนา ต้องขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยแพทย์ ว่าสมควรได้รับการผ่าตัดซ่อมแซมลิ้นหัวใจที่เกิดการชำรุดหรือไม่
“การผ่าตัดซ่อมแซม ลิ้นหัวใจรั่ว สำหรับโรงพยาบาลเอกชนจะมีราคาสูงประมาณ 4-5 แสนบาทต่อครั้ง โดยรวมทั้งค่ารักษาพยาบาลและค่าบริการหลังการผ่าตัดเบ็ดเสร็จ โดยผลการรักษาในบางรายอาจดำรงชีวิตอย่างเป็นปกติได้ตลอดชีวิต และบางรายก็อาจมีการซ่อมแซมซ้ำก็ได้” ผู้อำนวยการอายุรศาสตร์โรคหัวใจ กล่าว
ผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดซ่อมแซมบางราย หากเกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตกตัว หรือไตวายซึ่งพบได้น้อย แพทย์ก็จะแนะนำให้เปลี่ยนลิ้นหัวใจทันที การรักษาสำหรับผู้ป่วยที่ลิ้นหัวใจเสื่อม หรือเสียมาก แพทย์จะแนะนำให้เปลี่ยนลิ้นหัวใจ ซึ่งมีให้เลือกทั้งแบบจากธรรมชาติที่ได้จากเนื้อเยื่อของหัวใจวัว หรือเนื้อเยื่อหัวใจหมู และลิ้นหัวใจเทียมจากสารสังเคราะห์
วิธีการรักษาดังกล่าวจะมีราคาค่ารักษาอยู่ที่ 5-6 แสนเป็นอย่างต่ำ และสามารถรักษาให้กับผู้ป่วยทุกเพศทุกวัย และผลการรักษาจะได้ผลดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของร่างกายคนไข้ต่อลิ้นหัวใจใหม่ด้วย การรักษาด้วยวิธีนี้ คนไข้จะต้องกินยาป้องกัน ไม่ให้ลิ่มเลือดเกาะกับเนื้อเยื่อลิ้นเทียมไปตลอด
นพ.วิสุทธิ์ บอกอีกว่า แม้โรค ลิ้นหัวใจรั่ว จะพบในผู้ใหญ่วัย 40-50 ได้มาก แต่เด็กแรกเกิดบางรายก็เป็น ลิ้นหัวใจรั่ว ได้เหมือนกัน และมักมีสาเหตุจากความผิดปกติตั้งแต่แม่ตั้งครรภ์ เช่น พัฒนาเด็กที่ไม่สมบูรณ์ ซึ่งการพยากรณ์โรคทำได้ยาก เพราะเนื้อเยื่อของเด็กยังไม่แข็งแรง ทำให้การรักษายาก และโอกาสในการรอดชีวิตน้อยไปด้วย

วิธีการรักษารังเเคที่ดีที่สุด


วิธีการรักษารังเเคที่ดีที่สุด

คำว่ารังแค อาจจะเป็นปัญหาในอันดับต้นๆ ที่เกิดกับศรีษะ และเส้นผม ซึ่งหลายคนที่เป็นรังแคนั้น อาจเกิดความวิตกกังวลว่า ที่มีอาการเกิดรังแคเพราะสุขภาพเส้นผมไม่ดี ซึ่งอาจจะทำให้ดูเสียบุคคลิกไปเลยก็ได้ เพราะเวลาไปไหนมาไหน ต้องมานั่งกังวล ปัดซ้ายปัดขวากันคนอื่นเห็นรังแคกันให้วุ่นวาย บางครั้งอาจเสียหน้าหากมีคนเห็น ซึ่งพอจะมีเกร็ดความรู้ถึงสาเหตุของการเกิดรังแค และวิธีการรักษาอย่างง่าย ๆ มาฝาก
NICE HAIR Pictures, Images and Photos
เริ่มต้นด้วย งดการใช้น้ำอุ่นสระผม จะเป็นการเพิ่มปริมาณรังแค เพราะทั่วไปนั้นการสระผมด้วยน้ำอุ่นจะไปละลายชั้นไขมันบนหนังศีรษะออก ส่งผลให้หนังศีรษะแห้งและลอกเป็นขุย เกิดรังแคในที่สุด จึงควรเลิกสระผมด้วยน้ำอุ่น
แสงแดดจัดๆ เป็นตัวการทำลายเส้นผม ทำให้เส้นผมชี้ฟู ขาดน้ำหนัก และไม่เงางาม แสงแดดจะเข้าไปทำลายโปรตีนในเส้นผม และทำให้ผมหยาบ จึงควรหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับแสงแดด และควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์แชมพูที่ช่วยบำรุงเส้นผมอย่างล้ำลึก
หลีกเลี่ยงควันบุหรี่จากสิงห์อมควันทั้งหลาย เพราะควันบุหรี่จะเกาะบนเส้นผมทำให้ผมขาดความมันเงา และส่งผลให้สภาพศีรษะแห้งกว่าปกติ ไม่เพียงแต่ควันบุหรี่เท่านั้น ควันอื่นๆ ก็ไม่ควรจะให้โดนเส้นผมมากๆ เช่นกัน
ควรมีการนวดบำบัดเพื่อขจัดรังแคบ่อยๆ ทุกครั้งที่สระผม ควรนวดหนังศีรษะเบาๆ จะช่วยผ่อนคลายความเครียด และขจัดเซลล์หนังศีรษะที่ตายให้หลุดลอกได้ง่ายขึ้น?
ควรเลือกแชมพูที่เหมาะสมกับสภาพเส้นผมและหนังศีรษะ และควรล้างแชมพูให้สะอาดทุกครั้งหลังสระผมเพื่อขจัดสารเคมีที่ตกค้าง
โดย พ.ญ.ภาวาส เทียมเศวต ซึ่งเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโดยตรงด้านหนังศีรษะและเส้นผม กล่าวว่า การกำจัดรังแคทำได้ด้วยวิธีการง่ายๆ เพียงใช้ยาสระผมที่ช่วยขจัดรังแคอย่างสม่ำเสมอ หลังสระผมควรใช้ผ้าขนหนูที่แห้งสะอาดซับหนังศีรษะและเส้นผม ที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงการใช้ผ้าที่เปียกชื้นและไม่ใช้ผ้าร่วมกับผู้อื่น และหลีกเลี่ยงการเกาที่ทำให้หนังศีรษะเกิดแผลอักเสบ
นอกจากนี้ควรรับประทานอาหารที่มีธาตุสังกะสี วิตามินบี ซีและอี อยู่เสมอ เพื่อบำรุงหนังศีรษะ วิธีเหล่านี้เป็นการรักษาปัญหารังแคเบื้องต้น หากมีปัญหาควรรับการรักษาภายใต้การดูแลของแพทย์ เท่านี้ปัญหารังแคก้จะไม่มารบกวนคุณอีกต่อไป
เป็นยังไงบ้าง กับเคล็ดลับในการดูแลเส้นผมและหนังศรีษะ เพื่อลดปัญหารังแคของสาวๆ ทั้งหลาย เคล็ดลับนี้ใช้ได้กับทุกคนเลยทีเดียวไม่เว้นแม้แต่ท่านสุภาพบุรุษที่มีปัญหาในเรื่องหนังศรีษะ
ที่มา : beautyvwander.com