บทความที่ได้รับความนิยม

วันพฤหัสบดีที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

เนื้องอกในมดลูกเกิดจากอะไร


เนื้องอกในมดลูกเกิดจากอะไร

ปัจจุบันผู้หญิงจำนวนมากที่มีความผิดปกติของประจำเดือน การตรวจพบถุงน้ำ หรือเนื้องอกใน ระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิงมีากขึ้นทุกวัน
การไปตรวจสุขภาพ และตรวจภายในจึงเป็นเรื่องหนึ่งที่คนรัก สุขภาพควรคำนึงถึงเป็นอันดับต้นๆ เมื่ออายุย่างเข้าเลข 3 ซึ่งก็ไม่ควรกังวลอะไรมากเพราะหากพบความ ผิดปกติเกิดขึ้น และได้รับการรักษาแต่เนิ่นๆ โอกาสหายก็มีมาก สำหรับบางคนก้อนเนื้อที่ตรวจพบก็อาจจะ ไม่ใช่เนื้อร้าย เนื้องอกมดลูก( fibroids หรือ myoma uteri) เป็น ปัญหาที่พบได้บ่อยมาก และสามารถรักษาให้หายได้ เนื้องอกมดลูก เกิดจากเซลล์กล้ามเนื้อของผนังมดลูกที่เจริญมากกว่าปกติ จนกลายเป็นก้อนกลมอยู่ในผนังมดลูก

ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเนื้องอกชนิดนี้มักจะไม่เป็นเนื้อร้าย และไม่ทำให้เกิดอันตรายอะไร ตอนเริ่มแรกเนื้องอกมักมีขนาดเล็กเท่าเม็ดถั่ว แล้วค่อยๆ โตขึ้นช้าๆไปเรื่อยๆ

ตลอดช่วงวัยเจริญพันธุ์ บางคนอาจไม่ต้องรับการรักษาใดๆ เพียงแต่คอยตรวจติดตามการเปลี่ยนแปลงของเนื้องอกให้สม่ำเสมอก็เพียงพอ แต่บางคนก็จำเป็นต้องรับการรักษาหากเนื้องอกโตมาก หรือทำให้เกิด อาการผิดปกติ เนื้องอกมดลูกมักพบได้บ่อยในสมาชิกครอบครัวเดียวกัน แต่ถึงอย่างไรก็ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าทำไมผู้หญิงบางคน เป็นเนื้องอกมดลูก ขณะที่บางคนไม่เป็น
อาการที่ชวนสงสัย:

คนที่มีเนื้องอกมดลูกบางคนอาจไม่มีอาการผิดปกติใดๆ เลยก็ได้ แต่ เนื้องอกที่โตอยู่ในมดลูกของคุณ อาจทำให้เกิดอาการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ เช่น ประจำเดือนที่มากหรือนานหรือบ่อยผิดปกติ ปัสสาวะลำบาก ท้องอืดหรือท้องผูก รู้สึกปวดหรือหน่วงในท้องน้อย ปวดปัสสาวะบ่อยๆ ปวดหลัง ภาวะมีบุตรยาก คนส่วนน้อยมากที่หากไม่ได้รับการตรวจพบว่ามีเนื้องอกมดลูก แล้วเนื้องอกเจริญมากขึ้นจนทำให้เกิดปัญหาร้ายแรง เช่น กลายเป็นเนื้อร้าย

รักษาได้หลากหลายวิธี:
เนื้องอกมดลูกในแต่ละคนไม่จำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีเดียวกัน การเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับ จำนวน, ขนาด, ตำแหน่ง และความเร็วในการโตของเนื้องอก และยังขึ้นอยู่กับความรุนแรงของปัญหาด้วย ปัจจุบันมีทางเลือกในการรักษาหลายวิธี ซึ่งคุณหมอจะให้คำปรึกษาแนะนำวิธีที่เหมาะสมที่สุดสำหรับคุณได้ หลังจากที่ได้ตรวจอย่างละเอียดแล้ว ตรวจอะไรกันบ้าง ในขั้นตอนการตรวจวินิจฉัย คุณหมอจะถามประวัติอาการของคุณ และตรวจภายในด้วย


นอกจากนี้ คุณหมออาจแนะนำให้ตรวจเพิ่มเติมด้วยวิธีการอื่นๆ เพื่อให้ทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับขนาดและตำแหน่งของก้อนเนื้องอกมดลูกที่มีอยู่
การตรวจภายใน จะบอกได้ถึงรูปร่างลักษณะ, ขนาดโดยรวม, ความเรียบของผิวนอก รวมทั้งอาการเจ็บปวดของมดลูกได้ หากคุณมีปัญหาเลือดออกผิดปกติด้วย คุณหมอก็จะตรวจดูผนังช่องคลอดและปากมดลูกว่ามีการอักเสบติดเชื้อ หรือรอยแผลหรือไม่ และคุณหมอจะทำการตรวจเช็คมะเร็งปากมดลูกที่เรียกว่า Pap smear ไปในคราวเดียวกันด้วย และเนื่องจากก้อนเนื้องอกมดลูกอาจซ่อนอยู่ในผนังด้านหลังของมดลูกได้ ดังนั้นคุณหมออาจต้องตรวจทางทวารหนักด้วยก็ได้

นอกจากนี้การตรวจอื่นๆ ที่ใช้กันบ่อย คือ การตรวจด้วยเครื่องตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง หรืออัลตร้าซาวนด์ (Ultrasound)
สามารถทำได้เร็ว ง่าย และไม่เจ็บปวด ส่วนการส่องกล้องตรวจเข้าในโพรงมดลูก (Hysteroscopy) และการส่องกล้องตรวจทางหน้าท้อง (Laparoscopy) จะต้องใช้เครื่องมือผ่านเข้าไปในร่างกายเพื่อตรวจ หากพบว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้น ก็ไม่ต้องตกใจ คุณกับคุณหมอควรจะปรึกษาร่วมกันในการเลือกทางรักษา โดยทั่วไปถ้าหมอแน่ใจว่าไม่ใช่เนื้อร้ายจะแนะนำให้เฝ้าติดตามเนื้องอกไปเรื่อยๆ ก่อน, ในบางรายอาจพิจารณาให้ตัดก้อนเนื้องอกออก หรือตัดเอาตัวมดลูกออกไปเลย ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการของคุณขนาด และผลกระทบของก้อนเนื้องอก รวมทั้งความเร็วที่เนื้องอกโตมากขึ้น
ซึ่งก่อนที่จะตัดสินใจตัดมดลูกออก คุณจะต้องคำนึงถึงโอกาส และความต้องการมีบุตรในอนาคตของคุณเองด้วย
แต่ที่แน่ๆ ไม่ว่าจะเลือกวิธีใดรักษาต้องคำนึงถึงผลได้ผลเสียให้ดีถี่ถ้วนเสียก่อน ติดตามความเปลี่ยนแปลงของเนื้องอกไปก่อน โดยการตรวจภายในหรืออัลตร้าซาวนด์เป็นระยะๆ สม่ำเสมอ วิธีนี้จะเหมาะในกรณีที่เนื้องอกมีขนาดเล็ก หรืออายุคุณใกล้จะถึงวัยหมดประจำเดือน เพราะในช่วงวัยหมดประจำเดือนนั้น เนื้องอกมักจะเล็กลงได้เองเนื่องจากระดับของฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นการเจริญของเนื้องอกนั้นมีระดับลดลง หากคุณใช้ยาฮอร์โมนอยู่ ต้องเฝ้าติดตามเนื้องอกอย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษ


หมออาจแนะนำให้คุณเปลี่ยนจากยาทานคุมกำเนิดไปคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่นแทน ถ้าหากขนาดของเนื้องอกโตขึ้น หรือใช้ยาฮอร์โมนทดแทนในวัยหมดประจำเดือนอยู่ คุณหมอก็อาจแนะนำให้ลดขนาดของฮอร์โมนลง ถ้าหากคุณตั้งครรภ์ เนื้องอกจะโตขึ้นได้อย่างรวดเร็ว แต่ส่วนใหญ่มักไม่ทำให้เกิดปัญหาที่รุนแรงใดๆ การผ่าตัดเอาก้อนเนื้องอกออกมักไม่ทำกันในขณะตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตาม คุณอาจต้องคลอดโดยการผ่าตัด โดยเฉพาะหากก้อนเนื้องอกโตมาก หรือไปขวางในช่องทางคลอด หรือหากคุณเคยผ่าตัดที่มดลูกมาก่อน การผ่าตัดเอาก้อนเนื้องอกออก การตัดเอาเนื้องอกออกอาจพิจารณาทำได้โดยใช้กล้องส่องเข้าโพรงมดลูกผ่านทางช่องคลอด (Hysteroscopy) หรือโดยการผ่าตัดผ่านทางแผลเปิดที่หน้าท้อง (Abdominal myomectomy)

วิธีการเหล่านี้จะช่วยเก็บรักษามดลูกไว้ได้สำหรับการตั้งครรภ์ในอนาคต แต่ก็อาจกลับมีเนื้องอกมดลูกอีกได้เช่นกัน
คุณหมออาจพิจารณาให้ยาต้านฮอร์โมนเอสโตรเจนเพื่อให้เนื้องอกมีขนาดเล็กลงก่อนผ่าตัด การผ่าตัดเอามดลูกออก การตัดเอาตัวมดลูกออกทั้งหมด แต่จะไม่สามารถตั้งครรภ์ได้อีก วิธีนี้จะเหมาะสมในกรณีที่เนื้องอกมีขนาดใหญ่ หรือมีจำนวนหลายก้อน หรือทำให้เกิดอาการผิดปกติอย่างมาก การตัดเอาตัวมดลูกรวมทั้งปากมดลูกออก อาจทำได้ผ่านทางแผลผ่าตัดทางหน้าท้องหรือผ่าตัดออกทางช่องคลอด ส่วนการจะตัดเอารังไข่ออกไปด้วยหรือไม่นั้น อาจพิจารณาตามความสามารถที่จะเก็บรังไข่ไว้เพื่อทำหน้าที่สร้งฮอร์โมนต่อไปได้นานเพียงใด

จี้ทำลายเยื่อบุโพรงมดลูก (Endometrial ablation) เป็นอีกทางเลือกหนึ่งซึ่งอาจเหมาะสมในกรณีที่มีประจำเดือนออกมาก
แต่มีเนื้องอกมดลูกขนาดเล็กไม่กี่ก้อน วิธีการนี้จะใช้เครื่องจี้ไฟฟ้า หรือเลเซอร์ จี้ทำลายเยื่อบุโพรงมดลูกรวมทั้งเนื้องอกที่ยื่นเข้าในโพรงมดลูก หลังการจี้แล้วเลือดมักออกน้อยลง หรืออาจไม่มีประจำเดือนอีกเลย การฟื้นตัวหลังรักษาด้วยการจี้ก็เร็วมาก อย่างไรก็ตาม หากเนื้องอกยังโตขึ้นอีก ก็อาจจำเป็นต้องผ่าตัดมดลูกออกในภายหลังก็ได้ การไม่เป็นโรค คือลาภอันประเสริฐ แต่หากธรรมชาติประทานมาให้โดยที่มิอาจเลือกได้ ก็จำเป็นต้องเผชิญหน้าด้วยความชาญฉลาด และเลือกวิถีทางที่ดีที่สุดให้กับตัวเอง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น