บทความที่ได้รับความนิยม

วันศุกร์ที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

ความรู้เกี่ยวกับการรักษารากฟันที่ควรรู้ก่อนรักษา


ความรู้เกี่ยวกับการรักษารากฟันที่ควรรู้ก่อนรักษา
การรักษารากฟัน คือ การนำส่วนที่อยู่ในโพรงประสาทฟันออก (ได้แก่ เส้นเลือดและเส้นประสาท) ใส่ยาจนปราศจากเชื้อโรคแล้วอุดภายในรากฟันด้วยวัสดุอุดฟัน โดยหมอฟันจะเลือกทำในกรณีต่อไปนี้
ปกติหมอฟันจะทำเฉพาะซี่ที่สำคัญๆ และจะทำให้เมื่อพิจารณาแล้วไม่พบว่า
1. เยื่อยึดรากฟันมีไม่พอหรือไม่แข็งแรงพอ
2. ฟันซี่นั้นไม่อยู่ในสภาพที่จะอุดหรือครอบได้
3. ฟันซี่นั้นไม่มีความสำคัญต่อสุขภาพช่องปาก เช่น ฟันกรามถาวรซี่ที่ 3 ที่ไม่มีคู่สบ
4. ยาที่ใช้รักษาอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่คนไข้บางราย เช่น การแพ้ยา
ขั้นตอนการรักษารากฟัน
1. การรักษารากฟัน หมอต้องเปิดโพรงประสาทฟันโดยใช้เครื่องมือเจาะรูเข้าไปในโพรงประสาทฟัน ถ้าฟันซี่นี้ปวดเพราะมีหนอง อาการปวดจะลดลงเพราะมีช่องระบายหนองออก
2. การใช้เข็มอันเล็กๆ สอดเข้าไปในโพรงประสาทฟันเพื่อเกี่ยวเอาเนื้อเยื่อในโพรงประสาทฟันที่อักเสบติดเชื้อออกและทำความสะอาดโดยการล้างด้วยน้ำยา ในฟันหน้าที่มีเพียงรากเดียวจะใช้เวลาไม่นาน แต่ในฟันหลังซึ่งมีหลายรากต้องใช้เวลาในการทำความสะอาดแต่ละรากเพิ่มขึ้น ในขั้นตอนนี้หมอฟันอาจต้องนัดมาทำหลายครั้ง
3. หลังจากหมอฟันทำความสะอาดภายในรากฟันจนสะอาดปราศจากเชื้อแล้ว และคนไข้ไม่มีอาการปวด ในรากฟันไม่มีหนอง หมอฟันจะอุดภายในรากฟันให้เต็ม ไม่ให้มีเนื้อที่ว่างสำหรับเป็นที่อยู่ของเชื้อโรค
4. หลังจากอุดภายในคลองรากฟันเรียบร้อยแล้ว หมอจะบูรณะส่วนตัวฟันด้านบน ซึ่งถ้ารอยผุเดิมไม่ใหญ่มากอาจใช้วิธีการอุด แต่ถ้ารอยผุเดิมมีขนาดใหญ่เหลือเนื้อฟันน้อย เป็นฟันหน้าที่ต้องการความสวยงามหรือเป็นฟันกรามที่ต้องใช้ในการบดเคี้ยวอาหาร หมอจะแนะนำให้ใส่เดือยฟันและทำครอบฟันซึ่งมีความแข็งแรงกว่าการอุดธรรมดา ป้องกันฟันแตกหัก เสมือนการใส่หมวกกันน็อคให้กับฟัน
อัตราความสำเร็จในการรักษารากฟันในแต่ละงานวิจัยไม่เท่ากัน ส่วนใหญ่อยู่ที่ประมาณ 80-90% ขึ้นกับสภาพเดิมของฟันและความสามารถในการกำจัดเชื้อโรคในรากฟันของหมอฟัน หากหลังจากรักษารากฟันแล้วยังมีอาการปวด เหงือกบวม หรือมีหนอง เป็นข้อบ่งชี้ว่าการรักษารากฟันนั้นล้มเหลว จำเป็นต้องทำการรื้อวัสดุอุดเก่าออกและรักษารากฟันใหม่ หรือถ้าเกิดข้อแทรกซ้อนระหว่างการรักษา เช่น มีเครื่องมือหักคาที่ปลายรากฟัน อุดเกินปลายรากฟันแล้วไม่สามารถเอาออกได้ อาจต้องทำศัลยกรรมปลายรากฟันร่วมด้วยเพื่อเก็บฟันซี่นี้ไว้
ถ้าจะให้ดี หมอว่าควรจะรักษาสุขภาพช่องปากให้ดี แปรงฟันทุกครั้งหลังอาหาร ใช้ไหมขัดฟันและมาตรวจฟันทุก 6 เดือน ก่อนที่ฟันจะผุมาก อุดไม่ได้ จนต้องได้มารักษารากฟัน
ที่มา

ทพญ.รัชนีวรรณ ดวงพัตรา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น