บทความที่ได้รับความนิยม

วันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

โรคไส้เลื่อนเกิดจากอะไรเเละวิธีรักษา


โรคไส้เลื่อนเกิดจากอะไรเเละวิธีรักษา

         เพ็ญพิชชากร แสนคำ นักกายภาพบำบัด จากสถาบันปรับโครงสร้างร่างกายอริยะ ผู้เชี่ยวชาญด้านการปรับโครงสร้างร่างกายโดยวิธีทางกายภาพบำบัดประยุกต์ กล่าวถึงอาการไส้เลื่อนที่เป็นได้ทั้งผู้ชายและผู้หญิงว่า สาเหตุมาจากกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่อหน้าท้องไม่แข็งแรง อ่อนกำลังมากกว่าปกติ บวกกับมีภาวะแรงดันในช่องท้องสูง เช่น การยกของหนัก การเบ่งอุจจาระ การไอ ฯลฯ



หรือง่ายๆ คือระบบกระดูกกล้ามเนื้อในร่างกายไม่สมดุล ความแข็งแรงของเนื้อเยื่อต่างๆ ในช่องท้องและกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานไม่แข็งแรงพอ จึงทำให้ไม่สามารถพยุงส่วนของอวัยวะในช่องท้องที่เข้าที่เป็นปกติได้

“ทั้งหญิงและชายเป็นไส้เลื่อนได้ เนื่องจากกายวิภาคของอวัยวะในช่องท้องไม่ได้แตกต่างกันนัก มีการเจริญเติบโตที่ใกล้เคียงกันมาก ระบบโครงสร้างร่างกายที่เหมือนกัน ดังนั้น สามารถเกิดได้ในทุกชนิดเช่นเดียวกันทั้งหญิงและชาย”

โรคไส้เลื่อนในรายที่ไม่มากยังไม่ถึงขั้นอักเสบเรื้อรัง หากจะป้องกันไม่ให้เป็นมากขึ้นหรือให้กลับเข้าที่ได้ สิ่งหนึ่งที่จะช่วยได้คือการปรับโครงสร้างร่างกาย ปรับกล้ามเนื้อให้อยู่ในภาวะที่แข็งแรงทนทาน เพิ่มเส้นใยกล้ามเนื้อ เพิ่มเนื้อเยื่อต่างๆ ให้แข็งแรงขึ้น เสมือนเป็นอีกด่านในการดูแลไม่ให้เกิดภาวะที่ต้องเสี่ยงให้เกิดการอักเสบเรื้อรังหรือเป็นถึงขั้นต้องผ่าตัดให้เกิดผลข้างเคียงต่างๆ นานา

อันตรายของไส้เลื่อนหากปล่อยไว้จนทำให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง อาจมีผลให้ระบบช่องท้อง เนื้อเยื่อต่างๆ รอบๆ บริเวณที่เป็นไส้เลื่อนเกิดอาการเนื้อตาย/เน่าของไส้เลื่อนได้ ทั้งนี้ อาจมีการติดเชื้อเรื้อรัง และทำให้เสี่ยงต่อการลุกลามถึงระบบอื่น รวมถึงอาจทำให้ลุกลามถึงระบบเลือดได้

หากปล่อยไว้ไม่รักษาจะถึงขั้นรุนแรงและเป็นอันตรายต่อชีวิตได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น หากเริ่มมีอาการไส้เลื่อนควรรีบหาทางรักษาก่อนจะลุกลาม

การรักษาโรคไส้เลื่อนหากเป็นถึงขั้นอักเสบหรือติดเชื้อแล้วจะเป็นการผ่าตัด เทคนิคคือเย็บรอยที่ไส้เลื่อนออกมาให้ปิด แต่พบว่าในเคสที่มีการผ่าตัดส่วนใหญ่จะมีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก บางรายเกิดพังผืด ทำให้เจ็บเสียวอยู่ตลอดเวลา บางรายมีอาการชาและบวมของขาด้านที่ผ่าตัด ไม่หายขาด

บางรายเหยียดข้อสะโพกไม่สุด ต้องยืนตัวงอตลอดจากการตึงของแผลผ่าตัด ทำให้กระทบถึงระบบกล้ามเนื้อส่วนอื่นๆ ทำให้ตึงปวดเมื่อยอยู่ตลอด ฯลฯ เพราะฉะนั้น สิ่งที่ดีที่สุดคือป้องกันไม่ให้เกิดจะดีกว่า

ในกรณีที่เริ่มเป็นยังไม่รุนแรงและยังไม่อักเสบ การรักษาจะเป็นการดูแลด้วยตัวเอง ได้แก่ การบริหารร่างกาย โดยเฉพาะการออกกำลังกายกล้ามเนื้อหน้าท้อง ซึ่งต้องเป็นการบริหารเฉพาะมัดกล้ามเนื้อ โดยให้ได้กล้ามเนื้อหน้าเต็ม แต่ไม่ให้เกิดแรงดันมากที่ช่องท้อง เพราะจะทำให้เกิดแรงดันให้ไส้เลื่อนมามากกว่าเดิม ต้องได้รับคำแนะนำจากนักกายภายบำบัด หรือผู้เชี่ยวชาญของระบบกล้ามเนื้อโดยตรง จะปลอดภัยกว่า

ร่วมกับการหลีกเลี่ยงจากภาวะที่จะทำให้เกิดแรงดันมากที่ช่องท้อง ได้แก่ ไม่ไอ/จามแรงๆ หากต้องไอต้องประคองหน้าท้องเอาไว้ ไม่ยกของหนักจนเกินไป กินอาหารประเภทผักผลไม้ให้มาก ไม่รับประทานประเภทที่มีไขมันมากเพราะจะทำให้กล้ามเนื้อหน้าท้องมีไขมันสะสมมาก จะทำให้อ่อนแรงมากด้วย ฯลฯ

ทางที่ดีที่สุดคือป้องกันไว้จะดีกว่า ด้วยการทำให้ร่างกายฟิตอยู่เสมอ ออกกำลังกายถูกวิธี รักษาสภาวะโครงสร้างร่างกายให้สมดุล บริหารร่างกายแบบที่ได้ระบบการหายใจและการไหลเวียนของเลือด และบริหารกล้ามเนื้อเฉพาะมัดด้วย เน้นกล้ามเนื้อมัดลึก มัดที่เป็นหลักในการทำให้โครงสร้างมั่นคง พยุงส่วนอวัยวะต่างๆ ไว้ เช่น กล้ามเนื้อหน้าท้อง กล้ามเนื้อหลังชั้นลึก กล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ฯลฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น