บทความที่ได้รับความนิยม

วันอังคารที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

อาการไอมีวิธีการรักษาอย่างไร

อาการไอมีวิธีการรักษาอย่างไร

เเถวบ้านผมเรียกอาการไอเเบบนี้ว่านันสตอป อย่าได้เริ่มนะไม่หยุดเลย

ไอมากนัก จะทำอย่างไรดี (หมอชาวบ้าน)



โดย : เภสัชกรธานี  เมฆะสุวรรณดิษฐ์

          เคยสังเกตกันบ้างไหมครับว่า เวลาที่ตัวคุณเองหรือคนข้างเคียงไม่สบาย เช่น เป็นไข้หวัด เจ็บคอ อาการและเสียงเสียงหนึ่งซึ่งมักจะได้ยินกันอยู่บ่อย ๆ ควบคู่ไปกับอาการไม่สบาย จนบางครั้งทำให้ตัวเราเองหรือคนรอบข้างรู้สึกรำคาญก็คือ เสียงไอแค็ก ๆ บางคนไอมากถึงขนาดถุงลมในปอดแตก บางคนไอจนหน้ามืดเป็นลมไปก็มี เมื่อรู้ว่าอาการไอบางครั้งรุนแรงถึงขนาดนี้แล้ว เรามาทำความเข้าใจกันดีกว่าว่า อาการไอเกิดขึ้นได้อย่างไร สาเหตุ โทษ และประโยชน์ของการไอ ตลอดจนยาที่ใช้ระงับไอ มีอะไร
บ้าง



  อาการไอ เกิดขึ้นได้อย่างไร

          อาการไอเป็นกลไกที่สำคัญอันหนึ่งของร่างกายเรา ในการที่จะกำจัดเสมหะและสิ่งแปลกปลอมให้ออกไปจากทางเดินหายใจ คนไข้บางคนอาจมีอาการไอเรื้อรังจนรู้สึกชิน เช่น ผู้ที่สูบบุหรี่จัดแล้วเกิดอาการไอเวลาตื่นนอนตอนเช้า ซึ่งคนปกติโดยทั่วไปแล้วจะไม่ไอ ถึงแม้จะมีเสมหะหรือสิ่งแปลกปลอมในทางเดินหายใจ ทำไม? ก็เนื่องจากร่างกายของเราจะมีขนเล็ก ๆ ซึ่งจะอยู่ในเยื่อบุทางเดินหายใจ คอยปัดเอาเสมหะหรือสิ่งแปลกปลอมให้ขึ้นไปอยู่ในคอ แล้วถูกกลืนเข้าไปในทางเดินอาหารในที่สุด

          อาการไอจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการกระตุ้นปลายประสาท หรือตัวรับที่เกี่ยวกับอาการไอ เช่น หลอดลม กะบังลม เยื่อหุ้มปอด คอหอย ช่องหูส่วนบน เป็นต้น เมื่อปลายประสาทเหล่านี้ถูกกระตุ้นก็จะส่งสัญญาณไปยังศูนย์ควบคุมอาการไอบริเวณสมอง เมื่อศูนย์ไอถูกกระตุ้น ก็จะส่งสัญญาณประสาทไปยังกล่องเสียงและกล้ามเนื้อบริเวณทรวงอก และหน้าท้องที่เกี่ยวข้องกับการหายใจทำให้เกิดอาการไอ

 อะไรเป็นสาเหตุของการไอ

          การไอจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีสิ่งกระตุ้น  ซึ่งสิ่งกระตุ้นเหล่านี้แบ่งออกได้เป็น 4 ประเภทใหญ่ ๆ คือ

           1. สิ่งกระตุ้นโดยตรง เช่น ฝุ่นละอองและสิ่งแปลกปลอมที่เข้าไปในทางเดินหายใจ รวมทั้งเนื้องอกด้วย

           2. สิ่งกระตุ้นที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ  เช่น อาการที่หนาวเกินไป หรือร้อนเกินไป ก็ทำให้เกิดอาการไอได้

           3. สิ่งกระตุ้นที่เป็นการอักเสบ เช่น การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น เป็นไข้หวัด ปอดบวม ฝีในปอด เป็นต้น

           4. สิ่งกระตุ้นที่เป็นสารเคมี เช่น ก๊าซ ควันบุหรี่ ท่อไอเสีย เป็นต้น

          เมื่อมีสิ่งกระตุ้นดังกล่าวก็จะทำให้เกิดอาการไอออกมา ซึ่งมีทั้งไอแบบแห้ง ๆ  และไอแบบมีเสมหะ เนื่องจากมีการสร้างเสมหะเพิ่มขึ้นหรือเสมหะเหนียวข้นขึ้นและขนเล็ก ๆ ทำงานไม่ดีพอที่จะพัดโบกเอาเสมหะเหล่านั้นให้หลุดไปได้

 ในเสมหะมีอะไรอยู่บ้าง

          เสมหะประกอบด้วยส่วนสำคัญ 3 ส่วน คือ

            1. น้ำ ทำให้เสมหะใสอ่อนตัว

            2. น้ำเมือก (mucus) ทำให้เสมหะเหนียว

            3. ซากเซลล์ที่ตายแล้ว ทำให้เสมหะข้น

 ไอมีประโยชน์และโทษหรือไม่...อย่างไร

          อาการไอมีทั้งประโยชน์และโทษควบคู่กันไป ในส่วนที่เป็นประโยชน์ก็คือ อาการไอจะช่วยกำจัดสิ่งแปลกปลอม ซึ่งระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ กำจัดเสมหะ และใช้เป็นสัญญาณในการเตือนตัวผู้ป่วยเอง และบอกให้แพทย์ทราบว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นในระบบทางเดินหายใจ

 แต่ถ้าไอมาก ๆ ล่ะ จะเกิดอะไรขึ้นแน่นอนย่อมก่อให้เกิดโทษได้หลายอย่าง เช่น

           อาจทำให้หน้ามืดเป็นลม

           ไอรุนแรงจนถุงลมในปอดแตก

           ไอจนเหนื่อยหอบรบกวนการนอนหลับ

           ไอจนซี่โครงหัก กล้ามเนื้อท้องระบม ไอจนทำงานไม่ได้

 อาการไอรักษาได้อย่างไร

           1. รักษาที่สาเหตุ โดยการหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการไอ เช่น ควันรถ ควันบุหรี่ เป็นต้น

           2. รักษาอาการไอโดยใช้ยา ซึ่งพอจะแบ่งได้เป็น

               ยารักษาสาเหตุทำให้เกิดอาการไอ เช่น ไอจากหอบหืด ก็กินยารักษาหรือป้องกันหอบหืด ไอจากการติดเชื้อในทางเดินหายใจ ก็กินยาปฏิชีวนะ เป็นต้น

               ยาที่ออกฤทธิ์ระงับไอ ซึ่งแบ่งตามการออกฤทธิ์ของยาได้ดังนี้

               ยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง โดยยาจะกดศูนย์การไอโดยตรงมีด้วยกันหลายชนิด แต่ที่นิยมใช้ได้แก่ โคเคอีน (codeine) และเด็กซ์โทรเมทอร์แฟน (dextrometorphan)

               ยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนปลาย  โดยยาจะไปลดการระคายเคืองของปลายประสาทเหล่านี้ เช่น ยาอม น้ำผึ้ง ยาน้ำเชื่อมแก้ไอ เป็นต้น

               ยาที่ออกฤทธิ์ช่วยให้การไอเป็นไปได้ง่ายขึ้น เช่น ยาขับเสมหะและยาละลายเสมหะ เป็นต้น

          การที่จะเลือกใช้ยากลุ่มใดชนิดไหนนั้น ขึ้นอยู่กับสาเหตุของการไอ และความรุนแรงว่ามากน้อยแค่ไหน การสั่งจ่ายยาควรขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ และถ้ามีปัญหาของการใช้ยาดังกล่าว ก็ปรึกษาเภสัชกรใกล้บ้านท่าน แต่สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ การดื่มน้ำอย่างเพียงพอ ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุด ในผู้ป่วยที่มีอาการไอโดยเฉพาะไอจากมีเสมหะ เพราะน้ำจัดได้ว่าเป็นยาขับเสมหะ และยาละลายเสมหะที่ดีที่สุดตัวหนึ่ง ที่สำคัญก็คือ หาได้ง่าย ราคาไม่แพงอีกด้วย

ที่มาหมอชาวบ้าน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น